วันศุกร์ , เมษายน 19 2024
Breaking News
You are here: Home / ข้อมูล ผอ.เบาะแส / นวัตกรรมการสื่อสารขั้นสูงเพื่อใช้พัฒนาองค์ความรู้สู่ชุมชน (การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน – The Development of The Investigative News Reporting Process)

นวัตกรรมการสื่อสารขั้นสูงเพื่อใช้พัฒนาองค์ความรู้สู่ชุมชน (การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน – The Development of The Investigative News Reporting Process)

นวัตกรรมการสื่อสารขั้นสูงเพื่อใช้พัฒนาองค์ความรู้สู่ชุมชน

(การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน – The Development of The Investigative News Reporting Process)ss)

  การวิจัยเรื่อง “การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน” ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนเพื่อที่จะนำเสนอแนวทางการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 กลุ่มคือผู้แทนองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวน ผู้ชำนาญการด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน นักวิชาการด้านข่าวเชิงสืบสวน และผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

           ผลการศึกษา พบว่ากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนเริ่มจากการกำหนดหมายข่าว การสร้างศูนย์รวมข่าว การคาดการณ์ล่วงหน้า การจัดแผนงานข่าว การกวาดข้อมูลข่าว การสันนิษฐานงานข่าว และการเสนอข่าวสืบสวน โดยนำเสนอในรูปแพลตฟอร์ม (Platform) ต่างๆ ส่วนด้านปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนนั้น พบว่านักข่าวที่ขาดความรู้รอบด้าน ขาดความชำนาญในการหาข้อมูล ขาดการช่วยเหลือในด้านกฎหมายและความปลอดภัย รวมทั้งองค์กรข่าวไม่เปิดพื้นที่ในการนำเสนอข่าวให้นักข่าว ทำให้การสื่อข่าวเชิงสืบสวนไม่ประสบความสำเร็จ แนวทางแก้ไขคือองค์กรข่าว ควรเป็นองค์กรที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ สุจริต เปิดเผย นักข่าวจะต้องอยู่ในกรอบของการเป็นคนดี ฝึกฝนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ควรจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือเมื่อถูกข่มขู่คุกคาม ในส่วนของการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน พบว่าการประยุกต์ใช้กระบวนการรวบรวมข้อมูล (Crowd-sourcing) การสร้างนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) จากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในสังคม การหลอมรวมสื่อ (Convergence) และการใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Database Journalism) ในงานข่าวเชิงสืบสวนสามารถช่วยจัดการฐานข้อมูล (Database Manager) ได้ครบถ้วนและยังช่วยทำให้ข้อมูลจากแหล่งข่าวถูกต้องชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งกระบวนการสื่อสารในลักษณะนี้ของผู้รับสารและผู้ส่งสารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สื่อข่าวกับผู้รับสารชัดเจนมากขึ้นในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการเสนอข่าวสืบสวน

คำสำคัญ : การพัฒนากระบวนการ, ข่าวเชิงสืบสวนบทคัดย่อภาษาอังกฤษ

          This research aims to study the process of investigative news reporting and limitations in order to present the development plan to improve the news reporting process. The research has been conducted as qualitative research through in-depth interviews with four groups of experts: news organizations of investigative reporting, investigative journalist, scholars in investigative reporting , and investigative journalist practitioners. As far as the process of investigative reporting is concerned, the process has commenced from inventing news issues, seeking information and news sources, assessing the feasibility of the news, preparation and planning, seeking news and information in order to evaluate the situation, and organizing investigative reporting through various platforms which cause an obvious change in the relationship between journalists and the audiences during the process of information exchange. According to the limitations, it is found that there are four factors causing failure in the process of investigative reporting. The lack of knowledge journalists and their inexperience in finding information can result in an unsuccessful reporting along with lack of legal-safety assistance and the unopened news organizations leading to an unwelcome experience to the journalists. The solution is that the news organization should be a public charity organization for public interest, honest, reveal, Journalists must be in the framework of being a good person, Practice in modern technology, should set up a rescue organization when threatened. In order to develop the investigative news reporting process, it is recommended that the adoption of crowd-sourcing, citizen journalists and database-journals in the process can help better manage the database to be more complete and makes the data from the news sources more accurate.

Keywords: process development, investigative news reporting

กระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน

ฐานข้อมูล SSRN ตามลิงค์ด้านล่าง

https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=3552329

 ฐานข้อมูลงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกริ “การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน” ตามลิงก์ด้านล่าง

https://mis.krirk.ac.th/library/Kr_resdetail.asp?BookID=004872

ฐานข้อมูล วารสารสหวิทยาการสังคมศาสตร์และการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตามลิงก์ด้านล่าง

https://so02.tci-thaijo.org/index.php/ISSC/article/view/254567

ส่วนที่นำวิทยานิพนธ์ฉบับปริญญาเอกนี้ไปใช้ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจน

1.นำความรู้และประสบการณ์ เข้าร่วม MOU กับ มหาวิทยาลัยเกริก ตามลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=sSxm27IyzpM

2. นำความรู้วิทยานิพนธ์ที่สำเร็จปริญญาเอกเปิดหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต โดยมีตำแหน่งปัจจุบัน หัวหน้าสาขา นวัตกรรมการสื่อสารการสืบสวนสอบสวน หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก  ลิงก์     http://online.krirk.ac.th/commu-invest/   

3. นำความรู้ที่ได้จากวิทยานิพนธ์ ร่วม  MOU  ด้านวิชาการ กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยการนำความรู้ที่สำเร็จการศึกษา ปริญญาเอก  และค้นพบ ทฤษฎีใหม่ ในวงการนิเทศศาสตร์ คือ  3 C 1 D   ไปใช้ประโยชน์  ตามลิงก์  http://www.dusit.ac.th/2020/804907.html/nggallery/page/3

4. นำความรู้ที่ได้จากวิทยานิพนธ์ จัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อ เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ให้แก่ประชาชนทุกระดับอายุ เพื่อรู้ทันสังคม ไม่ตกเป็นเหยื่อ รู้ทันข่าวปลอม รวมทั้งสามารถปกป้องตนเอง และบุคคลรอบข้าง  ตามลิงก์ https://www.facebook.com/bfi001/   ปัจจุบัน จำนวน 15 รุ่น รุ่นละประมาณ 100 คน ซึ่งมาจากทั่วประเทศ โดยการใช้สื่อออนไลน์ (ในห้องสัมมนาในช่วงไม่มีโควิด 19) รุ่นที่ 15   ตามลิงก์ https://borsae.org/?p=1594

5. นำความรู้ที่ได้จากวิทยานิพนธ์ฉบับปริญญาเอกนี้ บรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยที่มีการเชิญไปให้ความรู้ ทั้งด้านนวัตกรรมข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน และ Big Data Analytics ที่ใช้ในการรายงานข่าวเชิงลึก ในยุค ดิจิทัล ตามลิงก์ https://borsae.org/?p=959

6. นำความรู้ที่ได้จากวิทยานิพนธ์ฉบับปริญญาเอกนี้ บรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้นำไปใช้เพื่อการตัดสินใจทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเรื่องส่วนตัว ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ รำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี และสถานที่อื่นๆ ตามลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=DkCGV7M6Ki4

ชื่อ-นามสกุล : ดร. เสกสรรณ ประเสริฐ Seksonna Prasert Ph.D.

สัญชาติ : ไทย

คุณวุฒิ (ด้านการศึกษา) : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

อาชีพ : ตำแหน่ง : อาจารย์

ที่อยู่ที่ติดต่อได้ : 199/73 หมู่ 1 (มูลนิธิเบาะแส) ถนนรังสิต-นครนายก 68 บึงยี่โถ ปทุมธานี 12130

หมายเลขโทรศัพท์ : 0814042002

หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ : 081 404 2002

ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) : seksonborsae@gmail.com

ข้อมูลการศึกษา
ปีที่จบการศึกษา : 2552
ระดับการศึกษา : ปริญญาตรี
สถานศึกษา : มหาวิทยาลัยเกริก
วุฒิการศึกษา : นิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาการสื่อสารการเมืองบูรณาการ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
คณะ : นิเทศศาสตร์
สาขา : การสื่อสารการเมืองบูรณาการ
ปีที่จบการศึกษา : 2554
ระดับการศึกษา : ปริญญาโท
สถานศึกษา : มหาวิทยาลัยเกริก
วุฒิการศึกษา : นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต
คณะ : นิเทศศาสตร์
สาขา : การบริหารการสื่อสาร
หัวข้อวิทยานิพนธ์ : ความพึงพอใจของผู้อ่านต่อปัจจัยส่วนผสมการตลาดของนิตยสารข่าวเบาะแส กรณีศึกษา ผู้อ่านในเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร
ปีที่จบการศึกษา : 2562
สถานที่ : ภายในประเทศ
ระดับการศึกษา : ปริญญาเอก
สถานศึกษา : มหาวิทยาลัยเกริก
วุฒิการศึกษา : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
คณะ : ศิลปศาสตร์
สาขา : นิเทศศาสตร์นวัตกรรม
หัวข้อวิทยานิพนธ์ : การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

The development of the investigative news reporting process

ความเป็นมาและความสำคัญ

ในวงการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ โจเซฟ พูลิตเซอร์ ( Joseph Pulitzer) ถือว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ระดับปรมาจารย์ของชาวอเมริกัน ได้กล่าวถึงการทำงานของนักข่าวว่า “อย่าพอใจเพียงแต่ได้เสนอสิ่งที่มองเห็นเท่านั้น” ซึ่งความหมายดังกล่าวมาจากวิธีปฏิบัติการในการหาข่าวที่มีลักษณะค้นหา ขุดคุ้ยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ลึกไปกว่าตัวเหตุการณ์ที่เรามองเห็นในขณะนั้น (สมหมาย ปาริจฉัตต์, 2537, น. 115) จากคำกล่าวนี้ทำให้เล็งเห็นว่า นักข่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตนาการในเรื่องที่ตนเองสนใจเพื่อที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าที่จะทำข่าวในเรื่องนั้น รวมทั้งมีความอยากรู้อยากเห็น มีการเตรียมการวางแผนงานล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ มีการประเมินสถานการณ์ รู้จุดอ่อน จุดแข็ง มีความคิดที่ชัดเจนและมีความเชื่อมั่นในตนเองมีปณิธานอย่างแรงกล้าพร้อมที่จะเผชิญกับอำนาจคุกคามต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น (นรินทร์ นำเจริญ, 2549, น. 110-124) สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของบทบาทหน้าที่การเป็นสื่อมวลชนที่จะสามารถสื่อข่าวเชิงสืบสวนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในแต่ละสังคมจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ไปเพราะระบบการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญในการสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่สื่อมวลชนในแต่ละประเทศ

          ดังนั้นนโยบายของรัฐซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสะท้อนบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยนักข่าวหรือสื่อมวลชนคือบุคคลที่ได้รับการคาดหวังจากสังคมให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการทำหน้าที่ นำเสนอข่าว แสดงความคิดเห็น ตลอดจนการวิเคราะห์ผลของสถานการณ์ที่อาจจะกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนและประโยชน์ของสาธารณะและด้วยปัจจัยที่สังคมหรือชุมชนในยุคปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Media) รวมถึงงานข่าวในสื่ออินเทอร์เน็ตที่ใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการสื่อข่าวซึ่งได้มีการแบ่งสื่อออกเป็นสองกลุ่มหลักคือสื่อประเภทสิ่งพิมพ์กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (มาลี บุญศิริพันธ์, 2556, น. 2-5) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนโดยผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือสื่อมวลชน (Mass Media) ไปยังสาธารณชนทั่วไป

          จากปรากฏการณ์นี้ การที่นักข่าวซึ่งได้รับการคาดหวังจากสังคมให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพตรงไปตรงมาเป็นที่พึ่งของประชาชนรวมทั้งเป็นปากเสียงให้กับประชาชนและแสดงพลังของการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน (Watchdog) ทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใส (มาลี บุญศิริพันธ์, 2556, น. 17) ติดตามสอดส่องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศซึ่งจะต้องนำวิธีการสื่อข่าวเชิงสืบสวนมาใช้ในการสื่อข่าวโดยนักข่าวจะต้องมีวิธีการทำงานให้เป็นภาพรวมที่ชัดเจนมีความเป็นตัวของตัวเองในการสื่อข่าวที่สื่ออื่นมองข้ามไม่ให้ความสนใจ รวมทั้งการพูดคุยการสัมภาษณ์ซักถามและการหว่านล้อมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกปิดบังซ่อนเร้นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ (Kaplan D., อ้างใน สมหมาย ปาริจฉัตต์, 2537, น. 144) ซึ่งจะเป็นไปตามกระบวนการสื่อข่าวตามเกณฑ์คุณภาพของข่าว เช่น ข่าวจะต้องมีความถูกถ้วน มีความสมดุลและความเป็นธรรม มีความกระชับชัดเจนและนำเสนอทันต่อเหตุการณ์พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม และประการสำคัญคือข่าวที่นำเสนอจะต้องสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม (นรินทร์ นำเจริญ, 2549, น. 41-61)

          จากการศึกษาค้นคว้าเบื้องต้นพบว่าการสื่อข่าวเชิงสืบสวนนั้น ทำให้เกิดผลสำเร็จยาก ส่วนเรื่องที่มีการนำมาเสนอข่าวในลักษณะข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและกระทบกับผู้คนจำนวนมาก (ทัศชยันต์ วาหะรักษ์, 2554) ซึ่งในความเป็นจริงข่าวเชิงสืบสวนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านทางสื่อมวลชนที่ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของสังคม (Feldstein, M., 2006)

          ในปัจจุบันการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนนั้นมีความจำเป็นต่อสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ต้องการความโปร่งใสชัดเจนในความจริงที่จะต้องปรากฏในลักษณะที่มีพยานหลักฐานเป็นที่ยอมรับต่อสังคม โดยเฉพาะประการสำคัญข่าวเชิงสืบสวนมีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างมาก เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างดี ซึ่งในปัจจุบันข่าวเชิงสืบสวนไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทย (มนตรี จุ้ยม่วงศรี, 2558) โดยพบข้อมูลว่าการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนที่นำเสนอทางด้านทีวีดิจิทัลช่องข่าวสารและสาระทั้ง 7 ช่อง มีสัดส่วนการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนค่อนข้างน้อย และในภาพรวมการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนยังไม่สามารถที่จะขุดค้นและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงออกมาได้อย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญยังพบว่าส่วนใหญ่การนำเสนอผลงานข่าวเชิงสืบสวนยังไม่ถึงขั้นคลี่คลายปมหรือขุดคุ้ยสืบค้นถึงต้นเหตุได้ (มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา2558)

          การสื่อข่าวเชิงสืบสวนนั้นมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากโดยเฉพาะประการสำคัญคือ เรื่องการหยุดยั้งการคอร์รัปชันอันเป็นนโยบายที่สำคัญและชัดเจนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 69/2557) ที่เข้ามาบริหารจัดการประเทศในขณะนั้น โดยเฉพาะประเด็นการหยุดยั้งเรื่องคอร์รัปชันด้วยการสื่อข่าวเชิงสืบสวนนั้น ประเวศ วะสี ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การหยุดยั้งคอร์รัปชันที่ชะงัดที่สุดคือการทำหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน เพราะคอร์รัปชันไม่กลัวความเห็น แต่กลัวความรู้ สื่อมวลชนของเรายังขาดวัฒนธรรมและความสามารถในการรายงานแบบสืบสวนสอบสวน จึงขาดพลังในการหยุดยั้งคอร์รัปชัน การรายงานเพียงการสัมภาษณ์ว่าใครมีความเห็นหรือใครทำอะไรไม่มีพลังแห่งการใช้ความจริงเป็นเพียงความหวือหวา” (สุชาดา จักรพิสุทธิ์, 2551)

          ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการค้นหากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ปัญหาพร้อมวิธีการแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนไปสู่แนวทางการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน และการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน เพื่อที่จะได้มีกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนที่เป็นรูปแบบให้องค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวน และผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวนสามารถนำไปใช้สื่อข่าวเชิงสืบสวนให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งผู้ที่สนใจในข่าวเชิงสืบสวน สามารถใช้ศึกษาเพื่อเข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักข่าวเชิงสืบสวน และใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมืองและด้านอื่นๆ อันเป็นการก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติต่อไป

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

สายศิริ ด่านวัฒนะ (2548) ทำการศึกษาเรื่อง “การรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย”

พบว่า ข่าวเชิงสืบสวนแยกได้เป็น 2 แนวทางคือ

          1. ข่าวที่มีเป้าหมายเพื่อขุดคุ้ย เปิดโปงการกระทำผิดต่างๆ ซึ่งมักเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น 

          2. ข่าวที่มุ่งอธิบาย ให้ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ ทั้งสองลักษณะมีความยาก ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมาก จึงถือเป็นการสื่อข่าวขั้นสูง มีคุณค่าและความสำคัญ 4 ระดับคือ คุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ ต่อวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต่อองค์กรหนังสือพิมพ์และต่อตัวนักข่าว กระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนต่างจากการสื่อข่าวทั่วไป ตรงที่จะต้องมีการวางแผนคล้ายคลึงกับการทำงานวิจัย เริ่มตั้งแต่การสืบค้น ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานจากเอกสาร (Paper Trail) จากบุคคล (Human Trail) และข้อมูลอิเล็คทรอนิคส์ (Electronic Trail) การวิเคราะห์ เรียบเรียง ไปจนถึงการนำเสนออย่างต่อเนื่องและอาจมีการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อขยายประเด็นและสร้างแนวร่วมทำให้การรายงานข่าวมีพลังยิ่งขึ้น

และยังพบอีกว่า ปัจจุบันมีการสื่อข่าวเชิงสืบสวนน้อยเกินไปแต่มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพดีขึ้น กล่าวคือมีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจนและมีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นหนังสือพิมพ์มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันในการสื่อข่าวเชิงสืบสวนมากขึ้นในบางกรณี เพื่อสร้างผลกระทบจากการเสนอข่าวพร้อมๆ กันและป้องกันการถูกคุกคามตอบโต้จากผู้เสียประโยชน์โดยลำพัง แต่ในอีกด้านหนึ่งพบว่า มีสภาพการแข่งขันกันในวงการหนังสือพิมพ์มากจนละเลยมารยาทหรือศักดิ์ศรีที่เคยยึดถือในอดีต จึงมีการทำ “ข่าวตาม” มากกว่า “ข่าวเดี่ยว” นอกจากนี้ การพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้เสน่ห์ของการรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ลดลง เพราะข้อมูลข่าวสารถูกนำเสนอผ่านวิทยุ โทรทัศน์และสื่อประเภทอื่นที่รวดเร็วกว่า จนอาจกล่าวได้ว่า หมดยุคของการสื่อข่าวสืบสวนแบบ “พระเอกคนเดียว”  ไปแล้ว ส่วนปัจจัยที่เป็น อุปสรรค ได้แก่ ความยากของงานที่ต้องการทักษะ ความรู้และประสบการณ์สูง ปัญหาความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ปัญหาด้านจิตสำนึกอุดมการณ์และศักยภาพของนักข่าว การที่นักข่าวมีภาระงานมากไม่สามารถทุ่มเทให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ปัญหาแบบแผนดั้งเดิมของการนำเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์ที่เน้น “ข่าวขาย” และปัญหาแบบแผนดั้งเดิมในการเปิดรับข่าวสารของประชาชน ปัญหาองค์กรหนังสือพิมพ์ ไม่มีระบบสร้างแรงจูงใจที่ชัดเจนสำหรับนักข่าวให้เป็น “มือข่าวเจาะ” และการที่องค์การวิชาชีพยังไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนที่ได้ผลและเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมสนับสนุน ควรเริ่มที่ตัวนักวิชาชีพและผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ ที่ต้องยึดมั่นในหน้าที่ของสื่อมวลชนร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก กองบรรณาธิการต้องให้ความสำคัญเร่งสร้าง “มือข่าวเจาะ” รุ่นใหม่ และสร้างระบบจูงใจที่ดี องค์กรหนังสือพิมพ์ต้องทบทวนการทำงานและระบบการจัดการให้เท่าทันกับเทคโนโลยี และสภาพความซับซ้อนของปัญหาในสังคม องค์กรวิชาชีพควรแสวงหาความร่วมมือจากภายนอก เพื่อจัดระบบการส่งเสริมสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความแตกต่างในแนวทางของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ (2550) ได้ศึกษาเรื่อง “แนวทางการทำให้เกิดการเสนอข่าวเชิงสืบสวนในสื่อหนังสือพิมพ์” 

พบว่า ปัญหาของการสื่อข่าวเชิงสืบสวนนั้น มีตั้งแต่เรื่องของตัวบุคคล ศักยภาพของนักข่าว วัฒนธรรมการทำงานแข่งขัน ระดับคุณภาพและความเอาใจใส่ต่อการทำงาน อุดมคติความมุ่งมั่นของนักข่าวเอง ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจในงานข่าวเชิงสืบสวน และแยกไม่ออกจากความสำคัญของนโยบายกองบรรณาธิการ การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การมีระบบฝึกฝนหล่อหลอม ตลอดจนปณิธานความเข้มแข็งขององค์กรหนังสือพิมพ์ ในการเผชิญกับอำนาจคุกคามและความสามารถในการต่อรองกับธุรกิจการตลาด ในขณะเดียวกัน สังคมจะต้องเรียนรู้ถึงสิทธิการสื่อสาร การรู้เท่าทันสื่อ การใช้ระบบสื่อสารสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการทางสังคม และสุดท้ายคือระบบสนับสนุนทั้งจากภายในและภายนอกระบบสื่อทั้งคนในวงการวิชาชีพและคนนอกวงการที่สนใจบทบาทของสื่อมวลชน ยอมรับถึงปัญหาและจุดอ่อน ที่ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างมีพลังได้ และแม้แต่ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการผลักดันร่วมมือจากภาคประชาสังคมและภายนอกสื่อ รวมถึงการสร้างกลไกให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นจริง 

ธีรธนา  ขุนทอง (2550) ได้ศึกษาเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์ข่าวสด : กรณีศึกษาข่าวเพชรซาอุฯ และข่าวการตายของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ” 

พบว่า กระบวนการในการสื่อข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ในทั้ง 2 กรณีศึกษานั้น มีขั้นตอนการทำข่าวที่เหมือนกันสามารถสรุปได้ 5 ขั้นตอนดังนี้

         1. การคัดประเด็นและทิศทางการนำเสนอข่าว

         2. การวางแผนการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

         3. การค้นหาข้อมูลจากแหล่งข่าว

         4. การตรวจสอบข้อมูล

         5. การนำเสนอข้อมูล

          ซึ่งในการคัดประเด็นและทิศทางการนำเสนอข่าวจากกรณีศึกษาทั้ง 2 กรณี พบว่ามีการพิจารณาประเด็นโดยคำนึงถึงหลักของคุณค่าความเป็นข่าว ดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในความสนใจของประชาชน คดีข่าวเพชรซาอุฯ เป็นข่าวอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งผู้กระทำความผิดคือตำรวจซึ่งถือเป็นผู้ที่มีอิทธิพล ทำให้ต้องมีการวางแผนในการทำงาน โดยคัดเลือกทีมงานที่มีความรู้ มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ เพื่อที่จะทำให้เข้าถึงแหล่งข่าวได้ง่าย เนื่องจากนักข่าวที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะรู้เทคนิค และมีความสนิทสนม คุ้นเคยกับแหล่งข่าวเป็นอย่างดี ทำให้แหล่งข่าวเกิดความไว้วางใจ และยอมเปิดเผยข้อมูล แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องในกรณีศึกษานี้ พบว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

          1)  แหล่งข่าวประเภทบุคคล ประกอบด้วย แหล่งข่าวเปิดและแหล่งข่าวปิด

          2) แหล่งข่าวประเภทพยานหลักฐานและเอกสารต่างๆ เช่น จดหมาย หนังสือราชการ รวมทั้งแหล่งข่าวจากการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อได้ข้อมูลมาจากแหล่งข่าวต้องทำการตรวจสอบข้อมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จากแหล่งข่าวที่ตนเองรู้จักหรือแหล่งข่าวที่มีความอาวุโสกว่าแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลมาเพื่อป้องกันความผิดพลาด หลังจากที่ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วจึงนำข้อมูลทั้งหมดเผยแพร่สู่สาธารณชน

          การวางแผนสื่อข่าวเชิงสืบสวนคือการคัดเลือกทีมข่าวที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ ใช้เทคนิค รู้วิธีการเข้าถึงแหล่งข่าว 

          ปัญหาที่พบคือผู้กระทำผิดที่เป็นผู้มีอิทธิพลทำให้แหล่งข่าวไม่กล้าที่จะให้ข้อมูลเนื่องจากเกรงกลัวต่ออิทธิพลและภยันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

ทัศชยันต์ วาหะรักษ์ (2554)ได้ศึกษาเรื่อง “เทคนิคการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์แนวประชานิยม”  

พบว่า  หนังสือพิมพ์แนวประชานิยมใช้ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้อ่านเลือกซื้อหนังสือพิมพ์ แต่การรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนทำได้ยาก เพราะมีปัจจัยควบคุมหลายอย่าง ส่วนเรื่องที่หนังสือพิมพ์นำมาเสนอในลักษณะข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ต้องเป็นเรื่องที่กระทบกับคนจำนวนมาก  เทคนิคและวิธีการในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

          1. การคิดและกำหนดประเด็น แยกเป็น 2 กรณีได้แก่ การต่อยอดจากข่าวที่นำเสนอปกติคือการขยายความจากข่าวที่เป็นกระแสในเวลานั้น และการสร้างข่าวคือการนำเสนอประเด็นข่าวที่เกิดจากการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว 

          2. การรวบรวมข้อมูล โดยการสอบถามจากแหล่งข่าวบุคคล การค้นคว้าจากแหล่งข่าวเอกสารและการสังเกตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

          3. การนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนโดยกำหนดประเด็นให้มีความต่อเนื่อง ใช้ภาษาหวือหวาแต่เข้าใจง่าย และเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

          4. การประเมินผลภายหลังการนำเสนอข่าวโดยการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการนำเสนอข่าวเพื่อนำข้อมูลนั้นไปนำเสนอข่าวต่อ   

แนวทางในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนโดยการนำเสนอเรื่องใกล้ตัวผู้อ่านเรื่องที่กระทบคนส่วนใหญ่ เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นและผิดกฎหมายมีเนื้อหาต่อเนื่องครอบคลุมทุกประเด็นและใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย

มนตรี จุ้ยม่วงศรี (2558) ได้ศึกษาเรื่อง “พัฒนาการข่าวยอดเยี่ยมรางวัลมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กับการกำหนดบทบาทและแนวทางในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน” 

พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ข่าวเชิงสืบสวนเพื่อต่อต้านการทุจริตมีจำนวนลดลงถึงคุณภาพของข่าว เป็นผลมาจากการถูกแทรกแซงการทำงานทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุนส่งผลทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงานใหม่ ลดทอนบทบาทการทำข่าวทุจริตลง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลกระทบทางธุรกิจ รวมถึงการเลือกข้างสนับสนุนฝ่ายการเมืองเพื่อความอยู่รอดขององค์กรและในขณะที่ธุรกิจสื่อยุคเปลี่ยนผ่านจากสื่อเก่าไปเป็นสื่อใหม่ สำนักข่าวออนไลน์และทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นมากมาย ทำให้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะเรื่องความเร็ว ทำให้มักเน้นทำข่าวตามกระแส ในความสนใจของประชาชนเพื่อผลประโยชน์จากเม็ดเงินโฆษณาเป็นสำคัญ รวมไปถึงศักยภาพของนักข่าวรุ่นใหม่ ที่ยังขาดประสบการณ์ในการทำข่าวเชิงสืบสวน ทั้งการหาประเด็นข่าว เทคนิคและวิธีการที่ใช้ในการสืบค้นข้อมูลและเอกสารหลักฐานประกอบ  และประการสำคัญพบว่าข่าวเชิงสืบสวนมีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างมาก เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างดี

มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (2558)ได้ศึกษาเรื่อง “สื่อเชิงสืบสวนในทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระ”  

พบว่า จากการศึกษาทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระทั้ง 7 ช่อง นั้นพบว่าส่วนใหญ่การนำเสนอผลงานสื่อเชิงสืบสวนยังไม่ถึงขั้นคลี่คลายปมหรือขุดคุ้ยสืบค้นถึงต้นเหตุได้ โดยสามารถสรุปผลการศึกษาและลักษณะสำคัญ ของข่าวเชิงสืบสวนที่พบได้ดังนี้  

          1. มีสัดส่วนการนำเสนอรายงานเชิงสืบสวนค่อนข้างน้อยโดยช่อง Spring News เป็นช่องที่พบรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนดมากที่สุดตามด้วย Nation Channel , ช่อง Bright TV  และช่อง TNN24 แต่ไม่พบรายงานเชิงสืบสวนในช่อง Voice TV, New TV และ Thai TV  

          2. นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือการทุจริตมากที่สุดแต่ไม่พบรายงานเชิงสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

          3. เลือกนำเสนอเรื่องราวแบบจบในตอนเป็นหลักโดยเฉพาะในรายการข่าวเชิงสืบสวน อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องที่มีจำนวนหลายตอนก็อาจเป็นไปในลักษณะการตัดแบ่งเรื่องราวเพื่อนำเสนอ มากกว่าการติดตามประเด็นความคืบหน้า

          4. มีลักษณะการสืบค้นที่สำคัญคือ

                   1) เน้นทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนให้พื้นที่แหล่งข้อมูลเชิงบุคคลที่เป็นกลุ่มผู้เสียหายได้รับผลกระทบมากกว่าคู่กรณี

                   2) เน้นเดินเรื่องตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าว โดยใช้เอกสารหลักฐานเป็นเพียงส่วนประกอบ 

          5. เน้นบทบาทในการอธิบายขยายความมากกว่าการเปิดโปง

          6. มุ่งตรวจสอบกลุ่มอำนาจมากกว่าหนึ่งกลุ่มแต่มักเป็นการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจในระดับปฏิบัติการ และในภาพรวมยังไม่สามารถที่จะขุดค้นและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงออกมาได้อย่างลึกซึ้ง

Stetka, Vaclav, and HenrikÖrnebring. (2013) ได้ศึกษาเรื่อง “Investigative Journalism in Central and Eastern Europe Autonomy, Business  Models, and Democratic Roles.”  

การศึกษาในครั้งนี้ศึกษาการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ใน 9 ประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

พบว่า การสื่อข่าวเชิงสืบสวนทั่วทั้งภูมิภาคมีความอ่อนแอ ขาดอิสรภาพ และมีอุปสรรค แต่มีความแข็งแกร่งมากกว่าในประเทศที่มีตลาดสื่อที่มีความมั่นคงมากกว่า และยังพบว่าในบางประเทศ เช่น โรมาเนียและบังแกเลีย แหล่งข่าวที่เป็นออนไลน์ (news online sources) มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะผู้จัดหาข้อมูลให้ใช้ในการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

Ismail, Adibah, HjSydZin, and HjSyd Abdul Rahman.(2009) ได้ศึกษาเรื่อง Evaluating the state of investigative journalism in Malaysia from practitioners’ perspectives.

พบว่า การสื่อข่าวเชิงสืบสวน คือแขนงวิชาใหม่ในด้านวารสารศาสตร์ แต่การปฏิบัติในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อกำลังโต้แย้งกันว่า การสื่อข่าวเชิงสืบสวน ควรนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือไม่  ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้ จึงได้พยายามค้นหา การปฏิบัติงานการสื่อข่าวเชิงสืบสวนในประเทศมาเลเซีย จากมุมมองของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อ งานวิจัยนี้ ใช้การสัมภาษณ์เชิงปริมาณเพื่อประเมินความเข้าใจต่อบทบาทของการสื่อข่าวเชิงสืบสวนและอุปสรรคในการปฏิบัติงานในประเทศมาเลเซีย ผู้เข้าร่วมการศึกษาประกอบไปด้วยบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวจำนวน 8 คน จากองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ 4 แห่ง งานวิจัยนี้พบว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อในประเทศมาเลเซียมีความเข้าใจต่อการสื่อข่าวเชิงสืบสวน แต่พวกเขาต้องปรับแนวทางปฏิบัติให้เข้ากับสภาพแวดล้อมด้านสื่อของประเทศ ผู้เข้าร่วมศึกษาส่วนใหญ่ชอบปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของรัฐบาล  กฎขององค์กรและกฎของตนเอง ด้วยเหตุนี้ การศึกษานี้จึงพบว่าพวกเขาชอบตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับผู้บริโภคและมักไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง

Yusha’u, Muhammad Jameel. (2009)  ได้ศึกษาเรื่อง “Investigative journalism and scandal reporting in the Nigerian press.”

พบว่า นักข่าวชาวไนจีเรีย มีความเข้าใจถึง การสื่อข่าวเชิงสืบสวนในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เห็นด้วยที่จะนำการรายงานข่าวเชิงสืบสวนไปใช้ในทางปฏิบัติและผล โดยยังพบว่า ระบบอุปถัมภ์นิยม (Clientelism) คือรูปแบบหนึ่งของแนวทางการปฏิบัติด้านการรายงานข่าวและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขัดขวางการนำการรายงานข่าวเชิงสืบสวนไปใช้ในทางปฏิบัติ การศึกษาครั้งนี้ยังได้พบอุปสรรคที่มีต่อการนำการสื่อข่าวเชิงสืบสวนไปใช้เพื่อเปิดเผยคดีการทุจริต อุปสรรคดังกล่าวได้แก่ การจ่ายผลตอบแทนการทำงานที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดี การทุจริตภายในองค์กรสื่อและความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและสำนักพิมพ์

Feldstein, Mark.(2006) ได้ศึกษาเรื่อง “A muckraking model investigative reporting cycles in American history.”

พบว่า การสื่อข่าวเชิงสืบสวนถือว่าเป็นพลังที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะใช้ตรวจสอบการกระทำผิดทางการเมืองและนโยบายภาครัฐ แต่ในช่วงศตวรรษหลังจากประธานาธิบดีแห่งอเมริกาได้เริ่มใช้คำว่า “การฉ้อราษฎร์บังหลวง” ขึ้นนั้น การสื่อข่าวก็ถือว่าเป็นวัฏจักรที่มีความเกี่ยวข้องในทางการเมือง ในขณะที่การศึกษามากมายได้มุ่งเน้นถึงผลกระทบของการสื่อข่าวเชิงสืบสวน แต่ยังพบว่ามีการศึกษาเรื่องนี้น้อยมากที่จะศึกษาถึงสาเหตุและไม่พบว่าการศึกษาใดที่วิเคราะห์และอธิบายถึงรูปแบบของการพัฒนาการสื่อข่าวเชิงสืบสวน การศึกษานี้ใช้วิธีการดั้งเดิมโดยติดตามการฉ้อราษฎร์บังหลวงในอดีตของอเมริกา และนำเสนอทฤษฎีที่สำรวจจากการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 250 ปีที่ผ่านมารูปแบบการฉ้อราษฎร์บังหลวงอิงกับอุปสงค์และอุปทาน แนวคิดนี้ได้ตรวจสอบมุมมองที่สำคัญของการบรรจบกันระหว่างสื่อมวลชนและนักการเมือง ซึ่งอาจทำให้มีคุณค่าต่อการศึกษาในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ และนิคม ชัยขุนพล. “คู่มือสื่อใหม่ศึกษา.” กรุงเทพฯ : โครงการเมธีวิจัยอาวุโส

                 สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย, 2555.

กิติมา สุรสนธิ. ความรู้ทางการสื่อสาร. พิมพ์ครั้งที่4.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

                 2548.

จันทนา ทองประยูร. ความรับผิดชอบทางจริยธรรมวิชาชีพ. เอกสารการสอนชุดวิชาการข่าว

                 ขั้นสูงและการบรรณาธิกร เล่มที่ 1: หน่วยที่ 3 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

                 สาขาวิชานิเทศศาสตร์, 2555.

เฉลิมชัย ยอดมาลัย. การรายงานข่าวชั้นสูง. (พิมพ์ครั้งที่5). กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. 2549.

ฐาปะนะ วงษ์สาธิตศาสตร์. การรายงานข่าวออนไลน์. เอกสารการสอนชุดวิชาการข่าวขั้นสูงและ

                 การบรรณาธิกร เล่มที่ 2 : หน่วยที่ 14 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

                 สาขาวิชานิเทศศาสตร์, 2555.

ทัศชยันต์ วาหะรักษ์. “เทคนิคการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์แนว

                 ประชานิยม.” วิทยานิพนธ์ ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย

                 สุโขทัยธรรมาธิราช, 2554.

ธีรธนา ขุนทอง. “การศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ข่าวสด :

                 กรณีศึกษาข่าวเพชรซาอุฯและข่าวการตายของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ.” วิทยานิพนธ์

                 ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2550.

นรินทร์  นำเจริญ. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการรายงานข่าว. กรุงเทพฯ : สามลดา, 2549.

บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ. “ดัชนีชี้วัดความเป็นวิชาชีพของผู้สื่อข่าวการเมืองไทย.” วิทยานิพนธ์

                ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต(สื่อสารมวลชน)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551.

บุญเลิศ ช้างใหญ่. คู่มือการรายงานข่าวเชิงสืบสวน. กรุงเทพฯ : บริษัท ที.พี.พริ้นท์ จำกัด, 2536.

พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช และคณะ. การรายงานข่าวชั้นสูง. (พิมพ์ครั้งที่5). กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. 2549.

พีระ จิรโสภณ. การรายงานข่าวเชิงสืบสวนแบบประยุกต์. (พิมพ์ครั้งที่1).

                 กรุงเทพฯ : บริษัท ที.พี.พริ้นท์ จำกัด, 2538.

มาลี บุญศิริพันธ์. หลักการทำหนังสือพิมพ์เบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่4).

                 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2538.

__________.การรายงานข่าวเชิงสืบสวนแบบประยุกต์. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ :

                 บริษัท ที.พี.พริ้นท์ จำกัด, 2538.

__________. การรายงานข่าวเชิงสืบสวนและตีความ. เอกสารการสอนชุดวิชาการข่าวขั้นสูงและ

                 การบรรณาธิกร เล่มที่ 1 : หน่วยที่ 5 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

                 สาขาวิชานิเทศศาสตร์, 2555.

__________. วารสารศาสตร์เบื้องต้น: ปรัชญาและแนวคิด. (พิมพ์ครั้งที่2). กรุงเทพฯ :

                 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556.

มนตรี จุ้ยม่วงศรี. “พัฒนาการข่าวยอดเยี่ยมรางวัลมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กับการกำหนด

                 บทบาทและแนวทางในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน.”

                 วิทยานิพนธ์ ปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2558.

มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา. “สื่อเชิงสืบสวนในทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระ.”

                 สำนักงานส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง(สส.)สำนักงานคณะกรรมการ

                 กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), 2558.

สมหมาย ปาริจฉัตต์. ข่าวเจาะ-เจาะข่าว. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2537.

_________. คู่มือการรายงานข่าวเชิงสืบสวน. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ :

                บริษัท ที.พี.พริ้นท์ จำกัด, 2537.

สายศิริ ด่านวัฒนะ. “การรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ไทย.” วิทยานิพนธ์

                 ปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2548.

สุชาดา จักรพิสุทธิ์. “แนวทางการทำให้เกิดการเสนอข่าวเชิงสืบสวนในสื่อหนังสือพิมพ์.” กรุงเทพฯ :

                 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550.

สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ. การสื่อข่าว : หลักการและเทคนิค. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือสถาบันราชภัฏ

                 สวนสุนันทา, 2545.

__________. การรายงานข่าวเชิงสืบสวน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 2560.

สุภางค์  จันทวานิช. การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ. (พิมพ์ครั้งที่9), กรุงเทพฯ :

                 สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.

เสนาะ สุขเจริญ. ข่าวสืบสวน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbooks, 2549.

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. สื่อสารมวลชนเบื้องต้น:สื่อมวลชน วัฒนธรรมและสังคม. (พิมพ์ครั้งที่2).

                กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

Agee, Warren K., Phillip H. Ault and Edwin Emery, Introduction to Mass

                Communications. New York : Harper & Row. Publishers, Inc.,

                1979, 1985, 1988.

Bittner, John R., Mass Communication. Englewood Cliffs, New Jersey : Prentice-Hall,

                Inc., 1983.

Burgoon, Michael, Approaching Speech/Communication. New York : Holt ,

                Rinehart and Winston, Inc., 1974.

David K. Verb, The Process of Communication. New York : Holt, Rinehart and Winston,

                1960.

Feldstein, Mark, A muckraking model investigative reporting cycles in American history.

                The Harvard International Journal of Press/Politics 11.2: 2006, p. 105-120.

Harrower, Tim, Inside Reporting : A practical Guide to the Craft of Journalism.

                (3rd edition). New York, McGraw-Hill. 2013, P. 327.

Hodgson, F. W.,  Modern Newspaper Practice, A primer on the press. (3rd edition). 

               Oxford : Focal Press. 1993, P. 35.

Ismail, Adibah, Hj Syd Zin, and Hj Syd Abdul Rahman, Evaluating the state

                of investigative journalism in Malaysia from practitioners’ perspectives. : 

                2009, p. 1-21.

Morris Janowitz, The Study of Mass Communication  in D.E. Sillas[ed.],

                The International Encyclopedia of the Social Sciences, New York :

                Macmillan and Free Press, Vol.3, 1968.

Rogers, E. M., Diffusion of Innovations, NY : The Free Press, 1995.

Spark, David. Investigative Reporting, A study in technique. Oxford : Focal Press,

                1999, p. 2.

Stetka, Vaclav, and Henrik Örnebring, Investigative Journalism in Central and Eastern

                Europe Autonomy, Business  Models, and Democratic Roles.

                The International Journal of Press/Politics 18.4 : 2013, p. 413-435.

Wright, Charles R, Mass Communication. New York : Random House, Inc., 1959, 1975.

Yusha’u, Muhammad Jameel, Investigative journalism and scandal reporting in

                the Nigerian press. ECQUID  NOVI 30.2:  2009, p. 155-174.

คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 69/2557. “มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต

               ประพฤติมิชอบ.” เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561.

ทีวีแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต. “บทบาทคนทำสื่อโดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ.”

                http://www.rsutv.tv/?p=26854. เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561.

ธาม เชื้อสถาปนศิริ. 2557. “USER-GENERATED CONTENT”: ยุคสื่อของผู้ใช้. 

                https://positioningmag.com/58244   เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562.

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. “หลักปฏิบัติทางจริยธรรมของนักวารสารศาสตร์.”

                http://www.tja.or.th/. เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561.

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ. “ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์.”

                http://www.presscouncil.or.th. เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561.

iQMediaLink. “สื่อออนไลน์กับบทบาทในการกำหนดประเด็นข่าวทางสังคม.”

                http://blog.infoquest.co.th/iqmedialink/news_onlinemedia/.

                เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2561.

Nils Hanson. “ข่าวเชิงสืบสวน.” Journalismfund.eu, 

                www.journalismfund.eu/what-investigative-journalism.   

                เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561.                                                                    

UNESCO. “Investigative Journalism.” องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

                แห่งสหประชาชาติ

               www.unesco.org/new/en/communication-and-information/freedom-of- 

               expression/investigative-%20journalism/. เข้าสืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561.

กมล ชวาลวิทย์. บรรณาธิการข่าวข้อมูล. สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า. สัมภาษณ์,

               19 กุมภาพันธ์ 2561.

จิตติมา บ้านสร้าง. ผู้จัดการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ข่าวสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS.

               สัมภาษณ์, 9 กุมภาพันธ์ 2561. 

จักร์กฤษ เพิ่มพูล. อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น.

              สัมภาษณ์, 11 กันยายน 2562.

ดรุณี หิรัญรักษ์. ประธานศูนย์ศึกษาจริยธรรมกฎหมายและนโยบายสื่อสถาบันอิศรา.

              มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย. สัมภาษณ์, 13 กุมภาพันธ์ 2561.

บุญเลิศ คชายุทธเดช. นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน. สัมภาษณ์, 20 มกราคม 2561.

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์. ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย.  

              สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2561.

มนตรี จุ้ยม่วงศรี. บรรณาธิการข่าว ศูนย์สืบสวนสำนักข่าวอิศราสถาบันอิศรามูลนิธิ

               พัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย. สัมภาษณ์, 12 กุมภาพันธ์ 2561.

วรวรรธน์ ขุนทอง. บรรณาธิการข่าวไทยรัฐทีวี. สัมภาษณ์, 9 กุมภาพันธ์ 2561.

สมชาย จรรยา. อุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย,

               ผู้อำนวยการสำนักข่าวนิวส์ออนไลน์ไทยแลนด์. สัมภาษณ์, 28 กุมภาพันธ์ 2561.

สมโภชน์ โตรักษา. นักข่าว. สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง7. สัมภาษณ์, 16 กุมภาพันธ์ 2561.

สมหมาย ปาริจฉัตต์. รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน). กรรมการสภาการศึกษา

               แห่งชาติ. กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี. สัมภาษณ์, 7 กุมภาพันธ์ 2561.

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา. หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV.

               สัมภาษณ์, 16 กุมภาพันธ์ 2561.

สุกัญญา บูรณเดชาชัย. ประธานสาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

               สัมภาษณ์, 17 กุมภาพันธ์ 2561.

สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. สัมภาษณ์,

               8 กุมภาพันธ์ 2561.

เสนาะ สุขเจริญ. บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชน

              แห่งประเทศไทย. สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2561.

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์. บรรณาธิการข่าวองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ

               แห่งประเทศไทย (ThaiPBS). สัมภาษณ์, 9 กุมภาพันธ์ 2561.

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

2. เพื่อศึกษาปัญหาพร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนไปสู่แนวทางการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

3. เพื่อศึกษาการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน


ระเบียบวิธีวิจัย

          การวิจัยในครั้งนี้กำหนดวิธีในการดำเนินการวิจัยในเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวนที่มีการวางแผนจัดเตรียมชุดคำถามและวิธีการสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนล่วงหน้า มีการดำเนินงานแบบเป็นทางการภายใต้กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมีคำถามสัมภาษณ์ที่ประกอบด้วย ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานอย่างย่อของผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ปัญหาพร้อมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาไปสู่แนวทางการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และระบอบการปกครอง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีผลต่อกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่เป็นความจริงตรงกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยและการติดตามซักถามเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนได้สาระสำคัญที่ผู้วิจัยจะนำมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์ร่วมกับการศึกษาค้นคว้าจากงานเขียน บทความ ข้อมูลหรืองานวิจัยที่อาศัยการสืบค้นเรื่องราวจากเอกสารเพื่อนำไปสู่คำตอบของวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดยมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้

          1.  การกำหนดผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) 

          การกำหนดผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการทำวิจัย ผู้วิจัยกำหนดผู้ให้สัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 กลุ่มบุคคล ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวน ผู้ชำนาญการด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน นักวิชาการด้านข่าวเชิงสืบสวน และผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

          กลุ่มที่ 1. เป็นผู้แทนองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 องค์กร โดยคัดเลือกจากองค์กรข่าวซึ่งสื่อข่าวเชิงสืบสวนที่เป็นสำนักข่าว เว็บไซต์ข่าว รายการโทรทัศน์ข่าวที่มีผลงานข่าวเชิงสืบสวนที่ได้รับรางวัลประเภทข่าวออนไลน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม ข่าวทุจริตเชิงสืบสวน ข่าวสืบสวนเกี่ยวกับการเปิดโปง และรางวัลข่าวโทรทัศน์สืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยม ซึ่งทั้ง 4 องค์กรข่าวนี้เป็นองค์กรข่าวที่ได้รับรางวัลระหว่างปี พ.ศ.2537 – 2559  ได้แก่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับรางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ.2559 ประเภทข่าวหรือสารคดีข่าวออนไลน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม ที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  เว็บไซต์ข่าวไทยพับลิก้า ได้รับรางวัลประกวดข่าวทุจริตเชิงสืบสวนประจำปี พ.ศ.2555 ที่จัดขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand)  รายการโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ซึ่งได้รับรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ปี พ.ศ.2559 และรับรางวัลในเรื่องเดียวกันจากสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ ประจำปี พ.ศ.2559 ประเภทข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวออนไลน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม และสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ซึ่งได้รับรางวัลข่าวโทรทัศน์สืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยม (Investigative TV Journalist Awards) ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2559 จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยเป็นครั้งแรกโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

          กลุ่มที่ 2. เป็นผู้ชำนาญการด้านการทำข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่ปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงานด้านการทำข่าวเชิงสืบสวน ที่มีประสบการณ์ในการทำข่าวเชิงสืบสวนมากกว่า 10 ปี  

          กลุ่มที่ 3. เป็นนักวิชาการด้านข่าวเชิงสืบสวนหรือการข่าวขั้นสูง จำนวน 4 คน โดยคัดเลือกจากอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่สอนหรือเคยสอนทางด้านข่าวเชิงสืบสวนหรือการข่าวชั้นสูง ที่มีประสบการณ์ในการสอนมากกว่า 10 ปี

          กลุ่มที่ 4. เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่เคยปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวนจากองค์กรข่าวที่เป็น  สำนักข่าว เว็บไซต์ข่าว รายการโทรทัศน์ข่าวและหนังสือพิมพ์ ที่มีประสบการณ์ด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวนมากกว่า 10 ปี ซึ่งมีผลงานได้รับรางวัลเกี่ยวกับข่าวเชิงสืบสวนตั้งแต่ปี พ.ศ.2537-2559

ขั้นตอนการดำเนินการเริ่มตั้งแต่

          1. เริ่มจากผู้วิจัยมีการนัดหมายกับผู้ให้ข้อมูล เดินทางไปพบผู้ให้ข้อมูลตามที่นัดหมายไว้ ทำการแจ้งวัตถุประสงค์พร้อมรายละเอียดของการวิจัยให้ผู้ให้ข้อมูลทราบ

          2. ในการสัมภาษณ์ผู้วิจัยจะใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก โดยการขออนุญาตบันทึกเสียงและจดบันทึกข้อมูลผู้ให้ข้อมูลหลัก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ผู้ให้ข้อมูลหลักนั้นเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 กลุ่มบุคคล ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวน ผู้ชำนาญการด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน นักวิชาการด้านข่าวเชิงสืบสวน และผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

          3. วิธีการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยจะเป็นผู้สัมภาษณ์โดยการจดประเด็นสำคัญและนำมาสังเคราะห์เพื่อนำเสนอในบทสรุปต่อไป

          4. ผู้วิจัยจะนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ นำมาดำเนินการวิเคราะห์ การจำแนกและจัดระบบข้อมูลตามระเบียบวิธีการวิจัยที่เป็นมาตรฐานต่อไป

          2.  วิธีการรวบรวมข้อมูล

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน มีรายละเอียดดังนี้

          1. ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาจากข้อมูลเอกสาร เช่น หนังสือ ตำรา และเอกสารทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน วรรณกรรม บทความ เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวน ตรวจสอบ และแสวงหาแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

          2.  ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูล คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวนจำนวน 4 องค์กร ผู้ชำนาญการด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 คน นักวิชาการด้านข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 คน และ ผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 คน รวมเป็น 16 คน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก         

          3. ผู้วิจัยตรวจสอบข้อมูลก่อนการวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบสามเส้าด้านวิธีการรวบรวมข้อมูล (Methodological Triangulation) โดยเก็บข้อมูลจากแหล่งที่ต่างกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลเรื่องเดียวกัน ใช้การสังเกตควบคู่กับการซักถาม

          4. นำความคิดเห็นจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 กลุ่มบุคคล ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวน ผู้ชำนาญการด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน นักวิชาการด้านข่าวเชิงสืบสวน และผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ในประเด็นที่ซ้ำกันหรือเหมือนกันรวมทั้งประเด็นที่แตกต่างมาสรุปเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป

          3.  การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล

งานวิจัยฉบับนี้รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้ทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์เชิงลึกที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลมีการตรวจสอบความตรง (Validity) และความเที่ยง (Reliability) เกณฑ์การวิเคราะห์เนื้อหาและประเด็นในการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อตอบคำถามตามวัตถุประสงค์ ผู้วิจัยได้ปรึกษากับผู้ทรงคุณวุฒิด้านวารสารศาสตร์ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ      บัวเผื่อน อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ดร.กันยิกา ชอว์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะ         นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้ตรวจสอบในการวิเคราะห์เนื้อหาและการตั้งประเด็นคำถาม

          4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูล กระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านการกำหนดหมายข่าว ด้านการสร้างศูนย์รวมข่าว ด้านการคาดการณ์ล่วงหน้า ด้านการจัดแผนงานข่าว ด้านการกวาดข้อมูลข่าว ด้านการสันนิษฐานงานข่าว และด้านการเสนอข่าวสืบสวน รวมทั้งปัญหาพร้อมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนไปสู่แนวทางการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านทักษะ ความรู้และประสบการณ์ของนักข่าว ด้านการแสวงหาข้อมูลข่าว ด้านแหล่งข่าว ด้านการป้องกันและแก้ไขการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ด้านให้มีความปลอดภัยในชีวิตของนักข่าวและแหล่งข่าว ด้านแรงกดดันจากภายนอกต่อนักข่าวและองค์กรข่าว ด้านนโยบายของหน่วยงานองค์กรข่าว และการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ซึ่งมีวิธีการดังนี้

          1. การจำแนกและจัดระบบข้อมูล เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาจำแนกและจัดหมวดหมู่ออกให้เป็นระบบ

          2. การวิเคราะห์สรุปอุปนัย เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ เพื่อหาบทสรุปร่วมกันของเรื่องนั้นๆ

          3. การวิเคราะห์ส่วนประกอบ เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ออกให้เห็นเป็นส่วนๆ

          5.  การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล

          จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลและวิเคราะห์แล้วซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านการกำหนดหมายข่าว ด้านการสร้างศูนย์รวมข่าว ด้านการคาดการณ์ล่วงหน้า ด้านการจัดแผนงานข่าว ด้านการกวาดข้อมูลข่าว ด้านการสันนิษฐานงานข่าว และด้านการเสนอข่าวสืบสวน รวมทั้งปัญหาพร้อมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนไปสู่แนวทางการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านทักษะ ความรู้และประสบการณ์ของนักข่าว ด้านการแสวงหาข้อมูลข่าว ด้านแหล่งข่าว ด้านการป้องกันและแก้ไขการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ด้านให้มีความปลอดภัยในชีวิตของนักข่าวและแหล่งข่าว ด้านแรงกดดันจากภายนอกต่อนักข่าวและองค์กรข่าว ด้านนโยบายของหน่วยงานองค์กรข่าว และการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ในส่วนของข้อมูลที่เหมือนกันหรือคล้ายกันที่ได้จากการประมวลผลและวิเคราะห์แล้ว ทั้งข้อมูลจากแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลซึ่งได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 กลุ่มบุคคล ในส่วนที่เหมือนกันหรือคล้ายกันแล้วนำมาสังเคราะห์เชิงพรรณนาเพื่อสร้างเป็นกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ต่อไป


ขอบเขตของการวิจัย

          1. ขอบเขตด้านเนื้อหา ศึกษาเฉพาะกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ปัญหาพร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนไปสู่แนวทางการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน และการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน เท่านั้น

          2. ขอบเขตด้านแหล่งข้อมูล ศึกษาเฉพาะบทความ หนังสือตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน จำนวน 4 กลุ่มบุคคล ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวน ผู้ชำนาญการด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน นักวิชาการด้านข่าวเชิงสืบสวน และผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวนเท่านั้น

          3.  ขอบเขตด้านเวลา ศึกษาช่วงเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 – กันยายน 2562


ระยะเวลาการทำวิจัย 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1/4/2561 ถึงวันที่ 30/9/2562

สรุปผลการวิจัย

          จากการที่ผู้วิจัยได้ค้นพบกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน ซึ่งสามารถสรุปองค์ประกอบหลักในกระบวนการสื่อข่าว

เชิงสืบสวนได้ 7 ขั้นตอน ที่จะใช้เป็นแนวทางในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ดียิ่งขึ้นดังนี้คือ

           1. กระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน พบว่าประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 

          1) การกำหนดหมายข่าว เป็นการค้นหาเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นซึ่งมีผู้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ การกำหนดหมายข่าวนั้นจะต้องเล็งเห็นแล้วว่าสิ่งที่จะทำต่อไปจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมและประเทศชาติ เริ่มด้วยการเกิดแนวความคิดว่าจะทำข่าวเรื่องอะไร อาจเริ่มจากการสังหรณ์ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือได้แง่มุมจากคำบอกเล่าหรือมีผู้ให้เบาะแสทั้งเปิดเผยตัวตนและไม่เปิดเผยจนทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของความสงสัยซึ่งต้นตอของความจริงอาจได้จากหลายทาง จากตัวของนักข่าว แหล่งข่าวบุคคล จดหมายร้องเรียน จากข่าวประจำวัน จากแฟ้มข่าว จากเอกสารข้อมูลหรือจากการพบเห็นโดยบังเอิญซึ่งเกิดเป็นข้อสงสัยในลักษณะมุมมองที่เป็นเรื่องผิดปกติ

          2) การสร้างศูนย์รวมข่าว เป็นการค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องรอบด้านเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ด้วยการสำรวจข้อมูล แสวงหาข้อมูลแหล่งข่าวด้วยความระมัดระวัง รวดเร็วและกว้างขวางทั้งจากเอกสารและการสัมภาษณ์ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Database Journalism) ในงานข่าวเชิงสืบสวนโดยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดการฐานข้อมูล (Database Manager) เช่น การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบยืนยันข้อมูล การนำเสนอข้อมูลข่าวสืบสวน วารสารศาสตร์เชิงข้อมูลในงานข่าวเชิงสืบสวนจึงเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในงานข่าวเชิงสืบสวนกับแนวทางอื่นๆ โดยนำมาใช้เพื่อศึกษาว่าจะสามารถเดินต่อไปได้จนบรรลุเป้าหมายหรือไม่ มีอุปสรรคและข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการแสวงหาแหล่งข่าวของข่าวที่ได้กำหนดหมายข่าวไว้แล้วซึ่งจะมาจากข้อมูลทางเอกสาร ข้อมูลทางวัตถุสถานที่ และข้อมูลบุคคล ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดความสำเร็จของการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

          3) การคาดการณ์ล่วงหน้า ในการที่จะสื่อข่าวเชิงสืบสวนเรื่องต่างๆ นั้น ควรดูจากคุณค่าข่าว ผลที่จะได้รับประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งทรัพยากรต่างๆ ปัญหาและอุปสรรคโดยการปรึกษากับผู้บริหารกองบรรณาธิการให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการเดินหน้าต่อในงานข่าวเชิงสืบสวน การคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นการประเมินข้อมูลทุกประเภทที่ค้นหาได้แล้ว นักข่าวจะต้องประเมินความเป็นไปได้ว่าข่าวเชิงสืบสวนในเรื่องที่จะทำนั้นสามารถดำเนินต่อไปจนถึงจุดจบได้หรือไม่ เพราะสุดท้ายจะเป็นการไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรและเวลาที่สูญเสียไป นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสื่อข่าวเชิงสืบสวน

          4) การจัดแผนงานข่าว ด้วยการตั้งสมมติฐานและวางแผนงานให้ชัดเจน โดยอาศัยประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาในเรื่องที่คล้ายกัน ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ผลของงานที่ออกมานั้นจะเป็นไปตามที่ได้ตั้งสมมติฐานไว้หรือไม่ โดยผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานคนเดียวครบวงจร (One Man Journalist) ก็จะต้องประเมินและตัดสินใจว่า จะทำข่าวชิ้นนี้หรือไม่ และในส่วนผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานเป็นทีมงานก็จะต้องร่วมกันประเมินและตัดสินใจโดยอาจใช้วิธีการตั้งสมมติฐานของงานวิจัยนำมาใช้ประกอบในการทำงานข่าวเชิงสืบสวน โดยจะต้องมีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนจบรวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละด้านที่ได้ประเมินไว้แต่ต้น ซึ่งอาจมีการพลิกผันแก้ไขไปตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้สำเร็จบรรลุไปสู่เป้าหมาย

          5) การกวาดข้อมูลข่าว แหล่งข้อมูลประกอบด้วย แหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสาร แหล่งข้อมูลที่เป็นบุคคล และแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งข่าวเชิงสืบสวนนั้นมีผลกระทบต่อกลุ่มคนจำนวนมากทั้งผู้เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง ทั้งแหล่งข่าวและผู้สื่อข่าว จึงควรระวังผู้ให้เบาะแสข่าว ผู้สื่อข่าวจะต้องประเมินคุณค่าของผู้ให้เบาะแสข่าวด้วยว่าน่าเชื่อถือเพียงใดและข้อมูลที่ได้มามีข้อพิสูจน์อะไรเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเท็จจริงหรือไม่ จะต้องตั้งสมมติฐานดูว่าผู้ให้เบาะแสข่าวมีจุดมุ่งหมายอะไรหากข่าวได้รับการเผยแพร่ ผู้ใดจะได้รับผลประโยชน์บ้าง หรืออาจหวังให้สื่อของเราเป็นเครื่องมือทำลายใครหรือไม่ หากการประเมินข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้ให้เบาะแสข่าวแล้วพบว่าไม่น่าเชื่อถือ ก็ควรใส่แฟ้มไว้ก่อนเพราะอาจมีประโยชน์ต่อไปในวันข้างหน้า แต่ถ้าข้อมูลน่าเชื่อถือและมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่แม้การประเมินของกองบรรณาธิการจะพบว่าผู้ที่ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายชื่อเสียงของผู้อื่นก็ตาม ผู้สื่อข่าวก็ต้องนำเสนอ

          6) การสันนิษฐานงานข่าว ด้วยการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเป็นการตรวจสอบข่าวกับหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เช่น เอกสาร แหล่งข่าวจากบุคคล การยืนยันข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่งข่าว รวมทั้งการตรวจสอบข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกครั้งก่อนการนำเสนอข่าวซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำมาประเมินการทำงานทุกขั้นตอนต่อเนื่องเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสื่อข่าว โดยการเปรียบเทียบข้อมูลกับแหล่งต่างๆ เพื่อความถูกต้องเป็นจริงโดยใช้การประเมินผลงานเป็นระยะๆ เพื่อประเมินความสำเร็จและอุปสรรคเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

          7) การเสนอข่าวสืบสวน เป็นการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนไปสู่สาธารณชนในแพลตฟอร์ม (Platform) ต่างๆ ที่เป็นทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์และในแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อดิจิทัล (Digital Media) โดยทุกคำพูดที่นำเสนอนั้นต้องเป็นความจริงและสามารถยืนยันได้ การเสนอข่าวสืบสวนนั้นสามารถทำเป็นรายงานพิเศษครั้งเดียวให้มีทั้งบทรายงาน ข้อเท็จจริง ตารางข้อมูล เกร็ดความรู้ บทสัมภาษณ์ รวมทั้งบทสรุป ตลอดจนภาพประกอบต่างๆ หรืออาจเสนอเป็นข่าวในลักษณะการรายงานเป็นตอนๆ ตั้งแต่เริ่มได้เบาะแสจนกระทั่งถึงบทสรุปผลขั้นสุดท้าย

          2. ปัญหาพร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนไปสู่การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน พบว่า

          1) ปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านทักษะ ความรู้และประสบการณ์ของนักข่าว พบว่า นักข่าวที่มีประสบการณ์การน้อยจะไม่มีทักษะและความรู้เพียงพอที่จะเริ่มทำงานข่าวเชิงสืบสวนและประการสำคัญนักข่าวส่วนใหญ่จะมีปัญหาในด้านความรู้ (Knowledge) โดยตรงและการรอบรู้ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์และการหาข้อมูลทางระบบอินเทอร์เน็ตให้มีความชำนาญ ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านทักษะ ความรู้และประสบการณ์ของนักข่าว มีวิธีการดังนี้ นักข่าวจะต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา มีความถูกต้อง ความยุติธรรม มีกระบวนการเก็บข้อมูล การสั่งสมข้อมูลไว้เป็นของส่วนตัว ในปัจจุบันสามารถค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีทำให้การสืบค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้นสามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้ องค์กรข่าวจะต้องจัดสร้างห้องสมุดข่าวขององค์กรข่าวเพื่อให้นักข่าวมีความรู้โดยตรงพร้อมทั้งรอบรู้ในเรื่องต่างๆ ที่จะสามารถทำข่าวเชิงสืบสวน และจะต้องส่งเสริมนักข่าวเข้าอบรมเพิ่มทักษะและความรู้ทางด้านการใช้เทคโนโลยี ในเรื่องการถ่ายภาพ ความรู้ในด้านการทำข่าวเชิงลึก ด้านการใช้ภาษาอังกฤษ การใช้งานคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสมัยใหม่รวมทั้งการหาข้อมูลทางระบบอินเทอร์เน็ตให้มีความชำนาญ ให้เรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่นโยบายขององค์กรข่าวต้องการให้ทำข่าวในด้านนั้นๆ พร้อมทั้งส่งไปอบรมต่างประเทศซึ่งจะช่วยให้มีทักษะความสามารถมากยิ่งขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักข่าวสถาบันต่างๆ ในระดับชาติและระดับนานาชาติเกิดขึ้น และประการสำคัญการเรียนจากประสบการณ์และสอนนักข่าวให้ทำข่าวเชิงสืบสวนตลอดเวลาในขณะที่เขาทำงาน (Learning by doing & Training on the job)  จึงเป็นการทำให้ได้ผลดีที่สุด

          2) ปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านการแสวงหาข้อมูลข่าว พบว่า นักข่าวส่วนใหญ่ขาดการค้นหาข้อมูลในเชิงลึก โดยเฉพาะนักข่าวหน้าใหม่จะไม่มีคลังข้อมูลส่วนตัว องค์กรข่าวมีคลังข้อมูลน้อย ความสามารถของนักข่าวในการค้นหาข้อมูลมีน้อยเนื่องจากขาดความรู้ ทักษะและประสบการณ์รวมทั้งองค์กรข่าวส่วนใหญ่ทำงานลักษณะไม่มีการวางแผน ไม่มีการทำระบบฐานข้อมูลข่าวและรายชื่อแหล่งข่าวไว้ ประการสำคัญด้านการเสาะหาข้อมูลเอกสารบางส่วนที่มีอยู่กับหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเสาะหาได้เนื่องจากถูกปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านการหาข้อมูลจากแหล่งข่าว มีวิธีการดังนี้ นักข่าวต้องมีความรู้ในเชิงระบบ ความรู้ในเชิงโครงสร้าง มีจิตสำนึกภายใต้อุดมการณ์ที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏ นักข่าวจะต้องสั่งสมหรือเก็บข้อมูลภายในเรื่องนั้นๆ มีคลังข้อมูลเป็นของตนเอง องค์กรข่าวจะต้องทำศูนย์ข้อมูลหรือระบบฐานข้อมูลไว้อย่างเพียงพอและสะดวกต่อการใช้ประโยชน์ เมื่อมีข้อมูลข่าวและรายชื่อแหล่งข่าวจะต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลระบบเกี่ยวกับการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ซึ่งในยุคของดิจิทัล (Digital) การหาข้อมูลข่าวสารปัจจุบันเปิดกว้างโดยการใช้อินเทอร์เน็ต องค์กรพัฒนาฝ่ายสารสนเทศ (Information Technology) สามารถทำให้การหาข้อมูลจากแหล่งข่าวสะดวกและได้ข่าวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้งกระบวนการหาข้อมูล (Crowd-sourcing) และการสร้างนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) การมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แหล่งข่าวกลุ่มนี้จะมีส่วนช่วยขุดคุ้ยและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ

          3) ปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านแหล่งข่าว พบว่า แหล่งข่าวจากส่วนราชการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล พลังจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียยังไม่ส่งเสริมสนับสนุนเท่าที่ควร รวมทั้งแหล่งข่าวบางคนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลหากมีผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านแหล่งข่าว มีวิธีการดังนี้ ใช้วิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข่าว สร้างแหล่งข่าวจากผู้ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เสียผลประโยชน์ในสังคม โดยจะต้องร่วมกันสร้างความเชื่อมั่น สร้างความไว้วางใจให้สังคมรับรู้ว่าทั้งนักข่าวและองค์กรข่าวสามารถปกป้องผู้ให้ข้อมูลได้ด้วยการปกปิดที่มาของข่าวและผู้ให้ข้อมูล รวมทั้งนักข่าวจะต้องกระทำตนเป็นตัวอย่างของการเป็นคนดี ตรงไปตรงมา อยู่ในสังคมแบบเป็นที่ยอมรับของประชาชน  

          4) ปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านการป้องกันและแก้ไขการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี พบว่า บางครั้งการทำข่าวประเภทนี้มีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและนักข่าวก็ขาดการช่วยเหลือในด้านกฎหมายซึ่งไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดๆ เข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดคดีความจากการทำงานข่าวเชิงสืบสวน ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านการป้องกันและแก้ไขการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี มีวิธีการดังนี้ ควรแก้ไขด้วยทักษะ (Skill) องค์กรข่าวจะต้องมีฝ่ายกฎหมายที่จะช่วยนักข่าวในเบื้องต้นและจะต้องมีข้อมูลเพื่อแจ้งให้กับนักข่าวทราบว่าการรายงานข่าวในลักษณะใดมีผลทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรข่าว ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมายตามมา ผู้ที่เป็นบรรณาธิการจะต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมาย ข่าวที่นำเสนอต้องรอบคอบ รอบด้าน เป็นเรื่องจริง และได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง ให้โอกาสทุกฝ่ายได้ชี้แจง ก่อนที่จะนำเสนอข่าวจะต้องมีการตรวจสอบหลายๆ ครั้งก่อนนำเสนอ และประการสำคัญคือการทำตามหน้าที่โดยสุจริตจะเป็นเกราะคุ้มกันในทุกๆ ด้านรวมทั้งหลายภาคส่วนควรร่วมกันจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานอิสระเพื่อช่วยเหลือนักข่าวประเภทนี้เมื่อมีการถูกฟ้องร้องในกรณีที่ทำงานข่าวเพื่อสาธารณประโยชน์

          5) ปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านให้มีความปลอดภัยในชีวิตของนักข่าวและแหล่งข่าว พบว่า นักข่าวขาดการช่วยเหลือปกป้องในด้านความปลอดภัยในชีวิตของตัวนักข่าว ส่วนใหญ่นักข่าวจะต้องดูแลตนเอง ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดๆ เข้ามาดูแลในเรื่องความปลอดภัย ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านให้มีความปลอดภัยในชีวิตของนักข่าวและแหล่งข่าว มีวิธีการดังนี้ เมื่อมีการเข้าในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงมากๆ จะต้องลงบันทึกประจำวันไว้กับสถานีตำรวจในพื้นที่นั้น เพื่อให้เป็นหลักฐานว่าเข้าในพื้นที่เพื่อทำงาน ส่วนเรื่องการป้องกันเรื่องรถยนต์ที่ใช้ทำงาน เรื่องการเดินทางจะต้องใช้รถที่ไม่มีเครื่องหมายแสดง ประการสำคัญการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยสุจริตตรงไปตรงมา เปิดเผย ไม่มีการกล่าวหาใครโดยเลื่อนลอย ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง พร้อมที่จะให้ทุกฝ่ายชี้แจง ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ความโด่งดัง ความอยากได้รางวัล ความอยากได้เอาข่าวเป็นเครื่องมือไปหาประโยชน์โดยมิชอบ อยู่ในกรอบจริยธรรม ศีลธรรมและไม่เรียกสินบนก็จะเป็นเกราะคุ้มกันการที่จะถูกประทุษร้ายได้ และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการตีแผ่ความจริง การแสดงทัศนคติ การแสดงความจริงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ก็จะเป็นพลังสาธารณะที่จะทำให้เป็นเกราะคุ้มกันได้ และที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ นักข่าวประเภทนี้จะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม จะต้องทำตนให้เป็นที่น่าเชื่อถือและจะต้องอยู่ในกรอบของการเป็นคนดี และประการสุดท้ายคือหลายภาคส่วนควรร่วมกันตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาช่วยเหลือเมื่อมีการถูกข่มขู่คุกคามเนื่องจากการทำหน้าที่ในงานข่าวเชิงสืบสวน

          6) ปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านแรงกดดันจากภายนอกต่อนักข่าวและองค์กรข่าว พบว่า แรงกดดันที่เกิดจากอำนาจรัฐ อิทธิพลทางธุรกิจจากกลุ่มของผู้ที่ถูกตรวจสอบทำให้ขาดรายได้จากการลงโฆษณา ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้านแรงกดดันจากภายนอกต่อนักข่าวและองค์กรข่าว มีวิธีการดังนี้ องค์กรข่าวที่มีต้นทุนต่ำเป็นองค์กรสาธารณะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งขององค์กรข่าวที่ไม่มีแรงกดดัน รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจงได้อย่างเต็มที่ และประการสำคัญหลายภาคส่วนควรรวมตัวกันเพื่อร่วมกันทำข่าวสืบสวนโดยผนึกกำลังให้เป็นวาระสาธารณะ เพื่อปกป้องประเทศโดยไม่ทำข่าวสืบสวนเพื่อผลทางธุรกิจ

          7) ปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้าน นโยบายของหน่วยงานองค์กรข่าว พบว่า องค์กรข่าวบางแห่งไม่เปิดพื้นที่ในการนำเสนอข่าวให้แก่นักข่าวเท่าที่ควรจะเป็น การจ่ายค่าตอบแทนให้นักข่าวไม่เหมาะสม อุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำงานไม่พร้อมและขาดทีมงานช่วยเหลือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉินในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ด้าน นโยบายของหน่วยงานองค์กรข่าว มีวิธีการดังนี้ องค์กรที่ทำข่าวเชิงสืบสวนควรเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อลดแรงกดดันจากทุกด้าน การทำข่าวประเภทสืบสวนสอบสวนต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานและมีค่าใช้จ่ายสูง องค์กรข่าวจะต้องสนับสนุนให้นักข่าวมีเวลาในการทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ให้โอกาส ให้เวลาอย่างเหมาะสม ในส่วนขององค์กรข่าวที่จ่ายค่าตอบแทนแก่พนักงานต่ำก็จะต้องมีรางวัลและมีประกาศเกียรติยศให้เป็นการทดแทน และสิ่งที่สำคัญควรให้สังคมกระตุ้นเพื่อให้องค์กรข่าวเสียสละทำงานข่าวสืบสวนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ พร้อมทั้งช่วยเหลือหางบประมาณสนับสนุนงานด้านนี้ให้ทั่วถึง         

          3. การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน  

          จากการที่ผู้วิจัยได้ค้นพบการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวเชิงสืบสวน ซึ่งเกิดจากการค้นพบในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน และค้นพบในแนวทางการแก้ไขปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน พบว่าการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน มีแนวทางซึ่งสามารถสรุปเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนได้ 4 หลักใหญ่ๆ ที่จะใช้เป็นแนวทางในการสื่อข่าวเชิงสืบสวนให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ดียิ่งขึ้นดังนี้คือ

          1.การสร้างนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนากระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน ด้วยการสรรหาบุคคลที่เป็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ให้ทำงานด้านนี้ซึ่งเป็นการสร้างนักข่าวพลเมืองเพียงเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากการทำข่าวเชิงสืบสวนนี้นักข่าวพลเมือง เป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อให้ได้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมกันเป็นแหล่งข่าวให้ข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล ดังนั้นการสร้างให้นักข่าวพลเมืองมีความรู้เรื่องข่าวเชิงสืบสวนเพื่อที่จะทำให้เกิดพลังมวลชน (Crowd) มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยอาจทำเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชนซึ่งเรียกว่า “นักข่าวพิเศษ” เมื่อมีข้อมูลนักข่าวพลเมืองก็จะส่งข้อมูลให้ ผู้ทำงานด้านข่าวเชิงสืบสวนก็จะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในงานข่าวเชิงสืบสวนได้ ซึ่งเป็นการลดบทบาทปัญหาตัวแทนขององค์กรข่าวในต่างจังหวัดเพราะส่วนใหญ่ตัวแทนองค์กรข่าวไม่ได้สังกัดอยู่กับสำนักข่าวเพียงแห่งเดียว

          2.กระบวนการรวบรวมข้อมูล (Crowd-sourcing) เมื่อนำมาใช้ในการพัฒนากระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน ปัจจุบันนั้นทำได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะองค์กรข่าวจะต้องมี เฟซบุ๊ก (Facebook) จัดทำขึ้นเป็นเพจ (Page) เปิดพื้นที่โดยใช้คำคมๆ ในที่สุดก็จะมีการส่งข้อมูล (Share File) เกิดขึ้น ข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกส่งเข้าในกล่องข้อความ (Inbox) ซึ่งมีประเด็นต่างๆ อีกมากมายเข้ามา กระบวนการรวบรวมข้อมูล จึงเริ่มขึ้น ในความคิดเห็นที่ส่งเข้ามานั้นอาจจะมีทั้งข้อมูลจริงและไม่จริงแต่สิ่งสำคัญก็คือการเกิดบรรดาแฟนพันธุ์แท้เข้ามาโดยที่นักข่าวไม่ต้องตามหาแหล่งข่าว

          3.วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Database Journalism) ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง หากได้มีการประยุกต์ใช้ในงานข่าวเชิงสืบสวนด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดการฐานข้อมูล (Database Manager) โดยการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบยืนยันข้อมูล นำเสนอข้อมูลข่าวเชิงสืบสวน ดังนั้นวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลในงานข่าวเชิงสืบสวนจึงเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในงานข่าวเชิงสืบสวนกับแนวทางอื่นๆ ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนไปสู่จุดสำเร็จหรือจุดมุ่งหมายได้โดยง่าย

          4.การหลอมรวมสื่อ (Convergence) ปัจจุบันโลกได้มีการหลอมรวมสื่อ เข้าด้วยกันทำให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน จึงทำให้นักข่าวสามารถหาข้อมูลง่ายขึ้นซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อมีการบริหารข้อมูลจากแหล่งข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล นักข่าวพลเมือง กระบวนการรวบรวมข้อมูล และการหลอมรวมสื่อ เมื่อนำมาใช้ร่วมกันเพื่อการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าแหล่งข่าว แหล่งข้อมูลนั้น ข้อมูลใดจริง ข้อมูลใดไม่จริง กระบวนการนี้จึงเป็นรูปแบบใหม่ของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้นักข่าวสะดวกในการหาแหล่งข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล ยืนยันข้อมูลและการโต้ตอบได้ในทันทีทันใดกับประชาชนในสังคมผู้รับสาร

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

       1. เพื่อทราบถึงแนวทางและกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนที่เหมาะสม

       2. เพื่อขจัดปัญหาในกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนในด้านต่างๆ

       3. เพื่อพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนให้เป็นกระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวนแนวทางใหม่

       4. เพื่อผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวนและองค์กรข่าวที่สื่อข่าวเชิงสืบสวนรวมทั้งผู้ที่ให้ความสนใจในคุณค่าของข่าวเชิงสืบสวน ได้ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ในวิชาชีพนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูล ประวัติ และผลงานมากกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา

ผลงานเด่น ในการปกป้องระบบการศึกษาไทย

วิทยานิพนธ์เรื่อง การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน (The Development of The Investigative News Reporting Process)เป็นวิทยานิพนธ์ด้านข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ระดับปริญญาเอกฉบับแรกของประเทศไทย

บทความทางวิชาการเรื่อง กระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน (The Process of Investigative Reporting) ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยในวารสารฐานข้อมูลระดับนานาชาติ (SSRN) ตามประกาศ ก.พ.อ.  (ติดอันดับ Top Ten  ของฐานข้อมูลระดับนานาชาติ SSRN  เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 )

การใช้ประโยชน์จาก วิทยานิพนธ์

โครงการบริหารเครือข่ายการศึกษาในมหาวิทยาลัย

(University Education Network Administration Project)

 *******สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย*******

1. ชื่อโครงการ         “ โครงการบริหารเครือข่ายการศึกษาในมหาวิทยาลัย ”

2. หลักการและเหตุผล

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในสังคมส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท ประชาชนที่ขาดความรู้มักจะตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ใช้การซื้อเสียงเพื่อให้สมาชิกของตนเข้าทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีการลงทุนจึงได้มีการถอนทุนตามมา ประชาชนมิได้มีความเข้าใจในระบบการเมือง ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะมีใจความสำคัญว่า “ประชาชนไทยทุกคนต้องรู้กฎหมาย” ประชาชนทั่วไป นักสังคมสงเคราะห์ อาสาสมัคร จิตรอาสา และนักธุรกิจเครือข่าย ส่วนใหญ่ยังไม่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากการค้นข้อมูล    ประชากรในประเทศประมาณร้อยละ 90 ยังไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (สืบค้นจาก  https://www.weforum.org/agenda/2018/09/heres-how-we-prepare-asean-youth-for-the-future เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563) จากการศึกษารายละเอียดจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคมไทย การศึกษาของประชาชนเป็นสาเหตุหลักของการพัฒนาประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่เช่นเดิม ด้วยการที่ประชาชนมีการศึกษาน้อย ขาดการหล่อหลอมความเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ขาดการหล่อหลอมการใช้กระบวนการทางความคิดให้รู้จัก ผิด ชอบ ชั่ว ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนขาดการพิจารณาว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก มีพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นมากมาย การกระทำตามในสิ่งที่ผู้ใหญ่ได้กระทำไว้กลายเป็นแบบอย่างในทางที่ผิดให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง จึงเกิดคำพูดเกี่ยวกับ การเป็นสองมาตรฐาน ไม่มีความเป็นธรรม และระบบอุปถัมภ์นำหน้า เกิดให้เห็นอย่างเด่นชัดในสังคมการดำรงชีวิตของประชาชน

หลักสูตรนวัตกรรมสืบสวนสอบสวน ขององค์กรสืบสวนเบาะแส BFI จึงเกิดขึ้นเป็นวิชาที่จำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของทุกคนในสังคม กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่มีการนำมาบังคับใช้ในทุกยุคทุกสมัยก็มีการออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องรู้กฎหมาย ดังนั้นวิชาความรู้ทั่วไปทางด้านกฎหมายจึงเป็นวิชาบังคับที่ผู้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องลงทะเบียนเรียน และในส่วนของการสื่อสารก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารมีประโยชน์ทั้งในแง่บุคคลและสังคมทำให้มีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้นเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า หัวใจของศาสตร์ทุกศาสตร์คือการสื่อสาร และยุคนี้ นวัตกรรมการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในยุคของการมีส่วนร่วม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาองค์กรในยุคที่มีฐานวิถีชีวิตใหม่(New Normal) ที่แปลความหมายว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต (มาลี บุญศิริพันธุ์, 2563. สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/292126  เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ) โดยเฉพาะองค์กรสืบสวนเบาะแส ในสังกัดของมูลนิธิเบาะแสซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมโดยใช้พลังจากสื่อมวลชน (Mass Media) และพลังจากนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่รวมทั้งเป็นผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์จริง โดยใช้พลังที่มีคุณภาพทั้งสองนี้เป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมพร้อมทั้งช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ออกสู่สาธารณชน ดังนั้นเมื่อนักข่าวพลเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงทำให้การปกป้องและสร้างความเป็นธรรมมุ่งไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งเกิดความมุ่งมั่นในการสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร นั่นก็คือความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งบุคลากรที่มาจากนักข่าวพลเมืองจะรู้สึกพึงพอใจในผลงานที่เกิดขึ้น และเกิดความรู้สึกของการมีคุณค่าในตนเอง มีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและผูกพันกับองค์กรส่งผลทำให้องค์กรมีคุณภาพ (ประทีป จันทรสิงห์, 2549) โดยที่ในปัจจุบันนักข่าวพลเมืองกลายเป็นผู้พลิกโฉมหน้าโลกของงานข่าวสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี จากเดิมที่ส่วนใหญ่งานข่าวนั้นเป็นเพียงหน้าที่และการทำงานของนักข่าวมืออาชีพเท่านั้น แต่ปัจจุบันงานข่าวกลับพลิกโฉมหน้าเป็นงานข่าวในมิติของประชาชนทั่วไป ที่ทำขึ้นในบทบาทของนักข่าวพลเมืองที่ช่วยเติมเต็มงานข่าวของนักข่าวมืออาชีพให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (ศุภนิตย์ วงศ์ทางสวัสดิ์, 2552) การมีส่วนร่วมของนักข่าวพลเมืองนี้ จึงเป็นกระบวนการที่นักข่าวพลเมืองได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนการปฏิบัติงาน การตัดสินใจ ความรับผิดชอบ การประเมินผล รวมทั้งด้านการแสดงความคิดเห็น โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และความเชี่ยวชาญในทางการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น (มธุรดา ศรีรัตน์, 2559) ในส่วนของการข่าวสืบสวนสอบสวนนั้นเป็นการปฏิบัติงานด้วยวิธีการค้นคว้าและแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการสืบสวนเบื้องลึกเบื้องหลังของข่าว จนกระทั่งได้ความจริงและข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ มีหลักฐานพิสูจน์และตรวจสอบได้ โดยมีการทำงานอย่างเป็นระบบมีกระบวนการแล้วจึงรายงานหรือนำเสนอข่าวนั้นผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือสื่อมวลชน (Mass Media) ด้วยแพลตฟอร์ม (Platform) ต่างๆ ไปสู่ยังสาธารณชนทั่วไปและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางหนึ่งทางใด (เสกสรรณ ประเสริฐ, 2562) ซึ่งข่าวสืบสวนสอบสวนนี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย ในกรณีที่ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐผ่านทางสื่อมวลชนที่ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรับผิดชอบ มีความเป็นกลางและมีจิตสำนึกในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของสังคม (มาลี บุญศิริพันธ์, 2555, น. 5-8)   

นวัตกรรมสืบสวนสอบสวน จึงเป็นวิชาที่ผู้ดำเนินโครงการนี้สำเร็จระดับชั้นปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขานิเทศศาสตร์นวัตกรรม โดยทำดุษฎีนิพนธ์หัวข้อ “การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน” ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ฉบับแรกของประเทศไทยในระดับชั้นปริญญาเอกขณะนี้ และได้จัดทำบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ SSRN ซึ่งปี 2020 บทความนี้ติดระดับ 1 ใน 10 ของข้อมูลระดับนานาชาติ (Top Ten) เป็นบทความทางวิชาการเรื่อง “กระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน” จากงานวิจัยในหัวข้อ “การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน” (สืบค้นจาก  https://papers.ssrn.com/sol3/topten/topTenResults.cfm?groupingId=3424408&netorjrnl=jrnl เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563)

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิเบาะแส โดยการนำของ ดร.เสกสรรณ ประเสริฐ ได้สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมตลอดระยะเวลามากกว่า 22 ปีที่ผ่านมาโดยได้นำมูลนิธิเบาะแสขับเคลื่อนค้นหาผู้นำทางความคิด (Opinion Leader) พร้อมทั้งสร้างพลังมวลชนหรือนักข่าวพลเมืองผู้ที่ต้องการความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยตั้งเป็นเครือข่ายผู้รักความเป็นธรรมประจำท้องถิ่น เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภาคต่างๆ รวม 10 ภาคทั่วประเทศ เพื่อเป็นการปกป้องตนเองและบุคคลรอบข้างให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งได้ให้ความรู้ในหลักสูตรระยะสั้นแก่ประชาชนในสังคมที่เข้าร่วมกับองค์กรมูลนิธิเบาะแส และในส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วม สิ่งที่น่าสังเกตได้ชัดเจนคือบุคลากรที่ได้เข้าร่วมกับองค์กรมูลนิธิเบาะแสจะได้รับความรู้ที่มีกระบวนการทางความคิด (Design Thinking) อย่างเป็นระบบ มีความรู้รอบด้าน สามารถนำเอาความรู้ต่างๆ หลากหลายด้านไปประยุกต์ใช้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการนำพาไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าถ้าประชาชนมีการศึกษาสามารถใช้ความรู้ไปในทางที่ถูกต้อง มีจิตสำนึกสาธารณะจะเป็นการนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ได้ผลสมบูรณ์ ดังนั้นการที่องค์กรมูลนิธิเบาะแสได้จัดสร้างโครงการบริหารเครือข่ายการศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงเป็นการนำร่องด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยการบูรณาการอย่างมีระบบ รวมทั้งจากการศึกษาข้อมูลประชาชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่ถึงระดับชั้นปริญญาตรี นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ รวมทั้งผู้ที่เตรียมความพร้อมที่จะเป็นนักการเมืองที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรียังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศร่วมกัน จึงควรสร้างนักการเมือง ผู้ทำงานด้านการเมือง นักข่าวพลเมือง นักจิตอาสาเพื่อสาธารณะเหล่านี้ให้มีการศึกษาอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำทางความคิดที่สามารถนำพาประชาชนไปสู่เป้าหมายในทางที่ถูกต้องด้วยการเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกกับมหาวิทยาลัยที่มีวิสัยทัศน์ และพร้อมพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดแบบบูรณาการไปพร้อมกับการขับเคลื่อนโดยคณะทำงานของมูลนิธิเบาะแสในส่วน Borsae Academy ซึ่งมีคณะทำงานอยู่ทั่วประเทศโดยใช้ระบบเครือข่ายเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป

3. วัตถุประสงค์

1.เพื่อจัดหาผู้ที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทุกคณะสาขาวิชาในปริมาณมากทั้งภาคปกติ และภาคสมทบ

2.เพื่อบูรณาการรูปแบบการเรียนการสอนตามความต้องการของกลุ่มผู้ศึกษายุคที่มีฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

3.เพื่อขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการมีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการมีนักศึกษาเข้าศึกษาอย่างต่อเนื่องและสำเร็จออกไปอย่างมีคุณภาพและนำความรู้ต่อยอดไปพัฒนาประเทศชาติต่อไป

4.เพื่อสร้างบุคคลากรทางด้านการศึกษาให้มีความแข็งแกร่งในวิชาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ต่อเนื่องอย่างมั่นคงและยั่งยืน

5.เพื่อจัดหาเพิ่มหลักสูตรใหม่ที่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

6.เพื่อเปิดคณะที่ยังไม่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ

7.เพื่อเตรียมการจัดตั้ง วิทยาลัยนวัตกรรมสืบสวนสอบสวน สังกัดมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับรองรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขานวัตกรรมสืบสวนสอบสวน และสาขาอื่นๆ ตามความเหมาะสมของระบบการเรียนการสอนแนวใหม่ในยุค New Normal

8.เพื่อเตรียมการขยายและจัดตั้ง วิทยาเขตหรือสาขาของมหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับรองรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทุกคณะ ทุกสาขา ทั้ง 10 ภาคทั่วประเทศ ตามความเหมาะสมของระบบการเรียนการสอนแนวใหม่ในยุค New Normal

9.เพื่อดำเนินการบริหารจัดการตนเอง ด้านรายได้ และค่าใช้จ่ายของโครงการนี้อย่างเหมาะสมระหว่างคณะทำงานที่ตั้งขึ้นเพื่อบริหารงานโครงการบริหารเครือข่ายการศึกษาในมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ

4. เป้าหมายหลัก

ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

  1. จิตอาสาเพื่อสังคมทั่วประเทศ
  2. อาสาสมัครตำรวจบ้านทั่วประเทศ
  3. อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรียนทั่วประเทศ
  4. อาสากู้ภัยทั่วประเทศ
  5. สมาชิกผู้ทำธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศ
  6. บุตร หลานของสมาชิกองค์กรสืบสวนเบาะแส BFI ทั่วประเทศ
  7. บุตร หลานของสมาชิกอาสาสมัครด้านต่างๆ ทั่วประเทศ
  8. ผู้ที่ต้องการสอบบรรจุเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ในระดับชั้นสัญญาบัตร
  9. ผู้ที่ต้องการสอบบรรจุเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ในระดับชั้นสัญญาบัตรโดยการสมัครเข้ารับราชการทหารเมื่อครบกำหนดการเกณฑ์ทหารอายุ 21 ปี โดยขอผ่อนผันขณะศึกษาในระดับปริญญาตรี
  10. ข้าราชการ ทหาร ตำรวจชั้นประทวนต้องการสอบเลื่อนชั้นเป็นสัญญาบัตร

บุคคลที่เกี่ยวข้อง

  1. อาจารย์ และนักวิชาการสังกัดทีมงาน Borsae Academy
  2. นักธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศที่เข้าร่วมดำเนินโครงการ
  3. คณะผู้ทำงานการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ
  4. คณะผู้บริหาร องค์กรสืบสวนเบาะแส BFI ประจำตำบล อำเภอ จังหวัด และภาคต่างๆ ทั้ง 10 ภาคทั่วประเทศ

5. ผู้รับผิดชอบโครงการ

ดร.เสกสรรณ ประเสริฐ (ผอ.เบาะแส) ประธานมูลนิธิเบาะแส (เพื่อความเป็นธรรมในสังคม) สถานที่ติดต่อเลขที่ 199/73 หมู่ 1 มูลนิธิเบาะแส ถนนรังสิต-นครนายก 68 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12130 โทรศัพท์ 081 404 2002  โทรสาร 02 199 7227  E-mail : seksonborsae@gmail.com    Line ID : borsae0001

6. วิธีการดำเนินการ

1. จัดสัมมนาหัวข้อ “นวัตกรรมข่าวสืบสวนเพื่อคุณภาพชีวิตพลเมืองไทยในยุคภยันตรายรอบด้าน” โดยใช้วิธีออนไลน์ด้วยอุปกรณ์ Application Line หลักสูตรระยะสั้น 12 วัน วันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงเวลาระหว่าง 19.00 – 20.30 นาฬิกา เพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ในทุกระดับชั้นปริญญา

2. จัดสัมมนาหัวข้อ “นวัตกรรมข่าวสืบสวนเพื่อคุณภาพชีวิตพลเมืองไทยในยุคภยันตรายรอบด้าน” โดยใช้วิธี ห้องสัมมนาของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ หลักสูตรระยะสั้น 2 วัน เพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญา

3. ใช้เครือข่ายมวลชนที่รักความเป็นธรรมทั่วประเทศสังกัดองค์กรสืบสวนเบาะแส BFI ชักชวนผู้สนใจเข้าศึกษาต่อเนื่องจากทั่วประเทศกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญา

4. ใช้เครือข่ายผู้ที่ต้องการสมัครเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ได้แก่ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) และผู้ปฏิบัติงานด้านการเมืองจากทั่วประเทศเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญา

5. ใช้เครือข่ายผู้ที่ต้องการสมัครเป็นนักการเมือง หรือทำงานการเมืองระดับชาติ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คณะกรรมาธิการด้านต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญา

6. ใช้ผู้ที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย และศิษย์เก่าเป็นผู้ชักชวนบุคคลรอบข้างเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญา

7. สร้างเครือข่ายข้าราชการ ทหาร ตำรวจจากทั่วประเทศเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อปรับเลื่อน ยศ เลื่อนตำแหน่ง

8. ใช้กระบวนการชักชวนผู้ทำธุรกิจเครือข่ายจากทั่วประเทศเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญา

9. ใช้ระบบธุรกิจเครือข่ายดำเนินการให้ผู้สนใจในสายงาน (Down line) จากทั่วประเทศเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญาไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจเครือข่ายเพื่อการพัฒนาประเทศแบบบูรณาการ

10.ใช้ระบบช่องทางการสื่อสารในรูปแบบ สื่อใหม่ (New Media) ได้แก่ Website Facebook Application-Line Instagram Twitter ดำเนินการสร้างผู้ที่สนใจตามข้อ 1 ถึงข้อ 9 จากทั่วประเทศเข้าศึกษาต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในทุกระดับชั้นปริญญา

11.ให้ความรู้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ทุกคณะและสาขาวิชา  ในด้าน นวัตกรรมสืบสวนสอบสวน เพื่อเสริมสร้างให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการเป็นบุคลากรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance) ออกสู่สังคมทั่วประเทศ

12. เป็นที่ปรึกษาอิสระแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

13. วางแผนและติดตามระบบการชำระเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการของนักศึกษาทุกระดับชั้นปริญญา

7. ระยะเวลา

โครงการนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่อง 15 ปี

8. สถานที่

          ใช้สถานที่ มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ สถานที่หน่วยราชการทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ สำนักงานใหญ่มูลนิธิเบาะแส ศูนย์ประสานงานขององค์กรสืบสวนเบาะแส ประจำตำบล ประจำอำเภอ ประจำจังหวัด และประจำภาคทั้ง 10 ภาคทั่วประเทศ

9. งบประมาณ

10. ผลผลิต/ผลลัพธ์/ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

11. วิธีการประเมินผลและดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการ

– ความสำเร็จของโครงการตรวจสอบได้จากจำนวนนักศึกษาข้อมูลฝ่ายทะเบียนประจำปีของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ

– ตรวจสอบการชำระค่าสมัครและค่าลงทะเบียนของนักศึกษาจากฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ

ลงชื่อ………………………………………………………..ผู้เสนอโครงการ

             (          ดร.เสกสรรณ ประเสริฐ          )

About borsae-admin

ปราบคอร์รัปชันและช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ติดต่อ LineID: borsae0001 ติดตามผลงานได้ใน http://borsae.org/?p=1014

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

Scroll To Top