วันพฤหัสบดี , พฤศจิกายน 21 2024
Breaking News
You are here: Home / ผลงานที่ผ่านมา / ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส

ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส

ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส

The relationship between Investigative information management and the Learning organization of the Borsae Foundation Institute

เสกสรรณ ประเสริฐ1

รุ่งรดิศ คงยั่งยืน2

พูนศักดิ์ ศิริชัย3

ไพบูลย์ ปรัชญานุสรณ์4

และอำนวย เพชรวิจิตรภักดี5

Seksonna Prasert, Rungradit Kongyoungyune, Poonsak Sirichai, Paiboon Prashyanusorn

and Amnuay Phetwijitphakdee

Website มหาวิทยาลัยเกริก หลักสูตร นวัตกรรมการสื่อสารการสืบสวนสอบสวน คณะศิลปศาสตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส

The relationship between Investigative information management and the Learning organization of the Borsae Foundation Institute

เสกสรรณ ประเสริฐ1 รุ่งรดิศ คงยั่งยืน2 พูนศักดิ์ ศิริชัย3 ไพบูลย์ ปรัชญานุสรณ์4

และอำนวย เพชรวิจิตรภักดี5

Seksonna Prasert, Rungradit Kongyoungyune, Poonsak Sirichai, Paiboon Prashyanusorn

and Amnuay Phetwijitphakdee

บทคัดย่อ

            การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนขององค์กรสืบสวนเบาะแส  2) ศึกษาระดับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส  3) ศึกษาความสัมพันธ์ของการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส  โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงปริมาณ  ประชากรคือสมาชิกองค์กรสืบสวนเบาะแสที่ผ่านการอบรมและดำเนินการตามภารกิจขององค์กรเบาะแสจำนวน 2,450 คน กลุ่มตัวอย่างได้จากตารางของเครซี่และมอร์แกนที่ความคลาดเคลื่อน .05 จำนวน 335 คน เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลของการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.974 สถิติที่ใช้คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน

 ผลการศึกษาพบว่า 1) การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนขององค์กรสืบสวนเบาะแส อยู่ในระดับมาก 2) ระดับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแสอยู่ในระดับมาก 3) การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแสพบว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับมาก (r = 0.697, p < 0.01) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.01

คำสำคัญ: การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน; องค์การแห่งการเรียนรู้; องค์กรสืบสวนเบาะแส

__________________________________________

1 อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก

  ที่อยู่ที่ติดต่อ 3 ถนนรามอินทรา ซอย 1 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220

  โทรฯ : 081 404 2002  Email : seksonna.pra@krirk.ac.th                 

2 อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก  Email : rungradit.kon@krirk.ac.th 

3 อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก

4 อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก 

5 อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก

Abstract

            The purposes of this study were to : 1) Study the level of investigative information management of the Borsae Foundation Institute. 2) Study the level of the learning organization of the Borsae Foundation Institute. 3) Study the relationship of investigative information management with the learning organization of the Borsae Foundation Institute.Using quantitative research methods The population consists of 2,450 members of the Borsae Foundation Institute who have received training and carried out the missions of the whistleblowing organization. The sample was obtained from Crazy and Morgan’s table with a tolerance of .05, numbering 335 people. The tool used to collect information about This research is Questionnaire which has a confidence value of 0.974. Statistics used are frequency, percentage, mean, standard deviation. Pearson correlation coefficient.

            The results of the study found that 1) Investigative information management of the clue investigation organization is at a high level 2) the level of learning organization of the clue investigation organization is at a high level 3) investigative information management with the learning organization of the clue investigation organization found that There is a positive relationship at a high level (r = 0.697, p < 0.01) with statistical significance at the 0.01 level.

Keywords: Investigative information management; Learning Organization; Borsae Foundation Institute

บทนำ

งานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาประเด็นสำคัญคือ การนำเข้าสารสนเทศขององค์การโดยใช้นวัตกรรมการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำและเป็นจริงที่สุด เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนองค์การ รวมถึงทำให้บุคลากรในองค์การเข้าใจเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องในองค์การที่แท้จริง โดยใช้หลักการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน คือ การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม การติดตามแนวโน้ม การหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล การสรุปข้อมูล เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุหรือข้อสังเกตของข้อมูล ข้อมูลที่สำคัญจะถูกนำมาสรุปในรูปแบบรายงานเพื่อให้ผู้บริหารสามารถเข้าใจข้อมูลได้อย่างชัดเจน กระบวนการ การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนเป็นขั้นตอนและการเรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกองค์การควรใช้ในการตัดสินใจและการวางแผนการขับเคลื่อนองค์การ

องค์การแห่งการเรียนรู้ เป็นองค์การที่ใช้คนในการสร้างความเป็นเลิศให้แก่องค์การ ขณะเดียวกันก็ใช้องค์การในการสร้างความเป็นเลิศให้แก่บุคลากรในองค์การ โดยใช้การเรียนรู้เป็นกระบวนการเชิงกลยุทธ์ ที่มีลักษณะต่อเนื่องบูรณาการเข้ากับการทำงานและมีการกระจายอำนาจให้แก่บุคลากรในองค์การเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม รวมทั้งมีการเชื่อมโยง การพึ่งพาทั้งในระดับบุคคล องค์การ และชุมชน เป็นองค์การที่ซึ่งเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ สั่งสมการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนองค์การอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลดีทั้งด้านการเรียนรู้และการเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งในทศวรรษนี้พบว่าองค์การต่างก็ให้ความสำคัญและความสนใจส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในองค์การอย่างได้ผลดีที่สุด (Marsick & Watkins, 2003)

 องค์กรสืบสวนเบาะแส คือองค์การที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เพื่อปกป้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิเบาะแส เมื่อปี พ.ศ.2551 เพื่อช่วยเหลือ เด็ก สตรี คนชรา รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม พร้อมทั้งดำเนินการปราบปรามการ        คอร์รัปชัน ทุกรูปแบบ โดยมีการจัดการองค์การแบบมีโครงสร้างโดยมีศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม บุคลากรที่ทำงานให้องค์กรสืบสวนเบาะแสทั้งหมดเป็นบุคลากรที่ทำงานด้วย “จิตอาสา” โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม องค์กรสืบสวนเบาะแสใช้การจัดการความรู้สู่บุคลากรให้มีทักษะการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำพาให้องค์กรสืบสวนเบาะแส ก้าวไปสู่องค์การแห่งการเรียนรู้ ทำให้การทำภารกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะทำงานวิจัยเรื่อง “การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนที่นำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส”

วัตถุประสงค์ในการวิจัย

1. เพื่อศึกษาระดับการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนขององค์กรเบาะแส

2. เพื่อศึกษาระดับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรเบาะแส

3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรเบาะแส

การทบทวนวรรณกรรม

ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยประยุกต์แนวคิด การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนขององค์กร มาจากแนวคิด “รูปแบบนวัตกรรมการสื่อสารขั้นสูงเพื่อใช้พัฒนาองค์ความรู้สู่ชุมชน” ของ เสกสรรณ ประเสริฐ (2564) ซึ่งเป็นแนวคิดในการสืบเสาะหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในหลากหลายแหล่งข้อมูลเพื่อได้ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงเชื่อถือได้ โดยการวิจัยครั้งนี้คำนึงถึงบริบทที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงเพื่อนำเข้ามาสู่สารสนเทศขององค์กร ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ 1)กระบวนการรวบรวมข้อมูล (Crowd-sourcing) 2)การสร้างนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) จากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในสังคม 3)การหลอมรวมสื่อ (Convergence) 4)การใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Database Journalism)

แนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้มาจากแนวคิด “Learning Organization” ของ Marsick & Watkins (2003) ประกอบไปด้วย 7 องค์ประกอบคือ 1)การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Create Continuous Learning Opportunities)  2)การส่งเสริมให้มีการพูดคุยสนทนา การซักถาม (Promote Inquiry and Dialogue) 3)การกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคล และระหว่างทีม (Encourage Collaboration and Team Learning) 4)การกำหนดระบบที่จะทำให้คนมีความสนใจในการเรียนรู้ และแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน (Establish Systems to Share and Capture Learning)  5) การให้อำนาจหรือกระจายอำนาจในองค์การโดยผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์การร่วมกัน (Empower People Toward a Collective Vision) 6)การเชื่อมโยงองค์การเข้ากับสภาพแวดล้อม และปรับตัวให้เหมาะสม (Connect the Organization to Its Environment)  7)การเตรียมกลยุทธ์ภาวะผู้นำสำหรับการเรียนรู้ (Provide Strategic Leadership for Learning) 

จากการศึกษาของ เสกสรรณ ประเสริฐ (2562) ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่ากระบวนการหาข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนเริ่มจากตั้งประเด็นการหาข้อมูลและแหล่งข้อมูล การประเมินความเป็นไปได้ของข้อมูล การเตรียมการและการวางแผน การแสวงหาข้อมูล การประเมินสถานการณ์ และการรายงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน โดยนำเสนอใน Platform ต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารชัดเจนมากขึ้นในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ส่วนปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดในกระบวนการรายงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนพบว่า ผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้รอบด้าน ขาดความชำนาญในการหาข้อมูลข่าวสาร ขาดการช่วยเหลือด้านกฎหมายและความปลอดภัย รวมทั้งองค์การไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้ปฏิบัติ ทำให้กระบวนการรายงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนไม่ประสบความสำเร็จ ในส่วนของการพัฒนากระบวนการค้นคว้าข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนพบว่า การประยุกต์ใช้กระบวนการรวบรวมข้อมูล Crowd-sourcing นักข่าวพลเมือง Citizen Journalist และวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล Database Journalism ในการปฏิบัติงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน สามารถช่วยจัดการฐานข้อมูลได้ครบถ้วน และยังช่วยทำให้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลถูกต้องชัดเจนมากขึ้น จากการศึกษาของ  Feldstein, M. (2006) พบว่าการสื่อข่าวเชิงสืบสวนนั้น ทำให้เกิดผลสำเร็จยาก ส่วนเรื่องที่มีการนำมาเสนอข่าวในลักษณะข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและกระทบกับผู้คนจำนวนมาก (ทัศชยันต์ วาหะรักษ์, 2554) ซึ่งในความเป็นจริงข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านทางสื่อมวลชนที่ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของสังคม จึงสามารถสรุปได้ว่าการหาข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน สามารถนำมาใช้ในการเสาะหาข้อมูล รวบรวม สังเคราะห์ และประเมินสารสนเทศที่องค์การมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ ในการขับเคลื่อนองค์การให้ตามทันคู่แข่งในยุคปัจจุบัน

องค์การแห่งการเรียนรู้เป็นแนวคิดในการพัฒนาองค์การโดยเน้นให้มีลักษณะเป็นองค์การที่มีบรรยากาศที่เอื้อให้บุคลากร กลุ่มหรือทีมในองค์การ ได้พัฒนาการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกองค์การ มีพลังร่วมในการทำงาน และการแก้ไขปัญหาขององค์การ สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการเรียนรู้และการทำงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ บุคลากรและองค์การจะมีศักยภาพในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้เท่าทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสามารถนำพาองค์การให้อยู่รอดและเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป องค์การที่มีการเรียนรู้นั้นเป็นกระบวนการที่มี ลักษณะเคลื่อนไหว ยืดหยุ่น เป็นพลวัตที่ไม่หยุดนิ่งหรือพึงพอใจกับความสำเร็จที่มีอยู่ นอกจากนั้นสมาชิกขององค์การต้องมีการกระตือรือร้นหาความรู้มาเผยแพร่แบ่งปัน เพื่อพัฒนางานในหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (รุ่งรดิศ คงยั่งยืน, 2561) ส่วน  Marsick & Watkins (2003) ให้คำนิยามองค์การแห่งการเรียนรู้ในเริ่มแรกว่า เป็นองค์การที่ให้สมาชิกสร้างความเป็นเลิศให้แก่องค์การ ในขณะเดียวกันก็ใช้องค์การสร้างความเป็นเลิศให้แก่สมาชิกโดยใช้การเรียนรู้เป็นกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่อง และบูรณาการเข้ากับการปฏิบัติงาน โดยใช้สมาชิกเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ และเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม ส่งเสริมการสนทนาอย่างเปิดเผยและมีการพึ่งพากันระหว่าง บุคคล องค์การ และชุมชน สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือ การได้รับความรู้ที่แท้จริงโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลในทุกด้านเพื่อให้ความรู้นั้นเข้าสู่องค์การและเป็นความรู้ขององค์การในที่สุด ส่วนงานวิจัยของ Ekambaram et al (2018) กล่าวถึง  ความหมายของคำว่า ความรู้แบ่งออกเป็นสามมิติประกอบด้วย ความรู้คือข้อมูลเปรียบเสมือนวัตถุที่จะนำไปสู่คุณลักษณะวัตถุประสงค์เชิงประจักษ์ของความรู้ นั่นก็คือระบบของการเรียนรู้ มิติที่สอง ความรู้ คือการแปลความ การสร้างความหมาย การสะท้อนถึงความรู้สึกซึ่งเกี่ยวข้องกับคน การปฏิสัมพันธ์ การสื่อสาร และการให้ข้อมูลป้อนกลับ มิติที่สาม ความรู้คือการปฏิบัติซึ่งอยู่นอกเหนือพุทธิปัญญา และความรู้สึกซึ่งมิตินี้รวมถึงความรู้ที่อยู่ภายในตัวบุคคล (Tacit knowledge) เป็นการปฏิบัติของชุมชน การเล่าเรื่องราวสืบทอดกันมาที่ได้จากประสบการณ์ ในปัจจุบันยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือที่เรียกกันว่า Big Data ซึ่งผู้วิจัย ได้กำหนดคำจำกัดความด้วย 5Vs ประกอบไปด้วย Value คือข้อมูลที่มีคุณค่า Velocity คือการไหลเวียนของข้อมูลอย่างรวดเร็วและการได้มาซึ่งข้อมูลที่ทันสมัย Veracity คือความจริง Variety คือความหลากหลายและแหล่งของข้อมูล Volume คือจำนวนของข้อมูลมหาศาล ความรู้ขององค์การเป็นการไหลเวียนของประสบการณ์ ค่านิยม บริบทของข้อมูลและความรู้ที่อยู่ภายในตัวของผู้เชี่ยวชาญ Cohen & Olsen, (2015) มีความเห็นว่า การบูรณาการความรู้จากทุนมนุษย์กับระบบสารสนเทศจะส่งผลต่อความสามารถขององค์การได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามความสามารถในการจัดการความรู้ขององค์การขึ้นอยู่กับบริบทของธุรกิจที่องค์การดำเนินงาน เนื่องด้วยองค์การในยุคปัจจุบันเป็นองค์การระบบเปิดซึ่งต้องบูรณาการตามปัจจัยภายนอกอย่างเหมาะสมพร้อมกับการปรับให้เข้ากับบริบทภายในองค์การตามมุมมองทฤษฏีตามสถานการณ์ (Contingency theory) ซึ่งจะเกิดต้นทุนต่อองค์การอย่างมาก Ekambaram et al., (2018) ได้กล่าวถึงการไหลเวียนของข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มาจากหลากหลายแหล่งข้อมูลมีความเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลที่เป็นจริงจะมีคุณค่าต่อองค์การ ดังนั้นผู้วิจัยมีความเห็นว่าในการจัดการความรู้และคลังข้อมูล องค์การต้องมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยพร้อมกับทุนมนุษย์ที่ชาญฉลาดในการเลือกใช้ข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณค่าและเป็นข้อมูลจริงมาใช้เพื่อนำไปสู่การวางแผนและการตัดสินใจทางกลยุทธ์และการเผยแพร่ถ่ายโอนความรู้ให้กับบุคลากรในองค์การต่อไป แต่ถ้าองค์การเลือกใช้และนำเข้าข้อมูลที่ผิดพลาดย่อมเกิดความเสียหายกับองค์การทั้งระบบ

สมมติฐานในการวิจัย

การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแสมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ                                               

วิธีการวิจัย

การออกแบบการวิจัยและประชากรที่ใช้ในการศึกษา

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม ประชากรคือสมาชิกองค์กรสืบสวนเบาะแสที่ผ่านการอบรมและดำเนินการตามภารกิจขององค์กรเบาะแสจำนวน 2,450 คน กลุ่มตัวอย่างได้จากตารางของเครซี่และมอร์แกนที่ความคลาดเคลื่อน .05 ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 335 คน แบบสอบถามที่จัดเก็บได้ เท่ากับ 340 ราย โดยทำการเก็บข้อมูลในช่วงเวลา ระหว่างเดือน กันยายน 2566ถึง ตุลาคม 2566

ตัวแปรและความน่าเชื่อถือของเครื่องมือ

การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน (IM)(α = 0.802) ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ 1) กระบวนการรวบรวมข้อมูล (IM_CS)  2) การสร้างนักข่าวพลเมือง (IM_CJ)  3) การหลอมรวมสื่อ (IM_CV)  4) การใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (IM_DJ)

องค์การแห่งการเรียนรู้ (LO)( α = 0.822)  ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ คือ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (LO_CL)  การส่งเสริมให้มีการพูดคุยสนทนา (LO_PR) การกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคลและทีม (LO_EC) การกำหนดระบบที่จะทำให้คนมีความสนใจในการเรียนรู้และแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน (LO_ES) การให้อำนาจ กระจายอำนาจในองค์การโดยผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน (LO_EP) การเชื่อมโยงองค์การเข้ากับสภาพแวดล้อมและปรับตัวให้เหมาะสม (LO_CO) การเตรียมกลยุทธ์ภาวะผู้นำสำหรับการเรียนรู้ (LO_PL) 

แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล

หาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของตัวแปร วิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์รายคู่ (Correlation) ระหว่างการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนขององค์การและองค์การแห่งการเรียนรู้

ผลการศึกษา

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ ข้อ 1  พบว่า ระดับการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน (IM)  และองค์ประกอบของระดับองค์การแห่งการเรียนรู้ (LO) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ย (M) จากตารางที่ 1

โดยทุกองค์ประกอบของ ปัจจัยการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน (IM) อยู่ในระดับมาก องค์ประกอบด้านมีการใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (IM_DJ) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด (M= 4.33; SD = 0.804) และด้านกระบวนการรวบรวมข้อมูล (IM_CS) มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด (M= 4.20; SD = 0.790)   ส่วนองค์ประกอบของปัจจัยองค์การแห่งการเรียนรู้ (LO) ทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับมาก โดยองค์ประกอบด้านการกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคล และทีม (LO_EC) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด (M= 4.26; SD = 0.913) และองค์ประกอบด้านการให้อำนาจ กระจายอำนาจในองค์การโดยผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน (LO_EP) มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด (M= 3.85; SD = 0.916) 

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ ข้อ 2 จากตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่าการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน (IM) มีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับมากกับองค์การแห่งการเรียนรู้ (LO) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 (r = 0.697, p < 0.01)

การจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน (IM) มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 กับองค์ประกอบขององค์การแห่งการเรียนรู้ (LO) ในระดับสูง 3 องค์ประกอบ คือ  ลำดับ 1  การเรียนรู้และแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน (LO_ES) (r = 0.647, p < 0.01) ลำดับ 2 การส่งเสริมให้มีการพูดคุยสนทนา (LO_PR) (r = 0.625, p < 0.01) ลำดับ 3 การกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคล และทีม (LO_EC) (r = 0.625, p < 0.01)  และมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 กับ 4 องค์ประกอบ คือ ลำดับ 4 การเชื่อมโยงองค์การเข้ากับสภาพแวดล้อมและปรับตัวให้เหมาะสม (LO_CO) (r = 0.523, p < 0.01) ลำดับ 5 การเตรียมกลยุทธ์ภาวะผู้นำสำหรับการเรียนรู้ (LO_PL) (r = 0.468, p < 0.01)  ลำดับ 6  การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (LO_CL) (r = 0.466, p < 0.01) และ ลำดับ 7 การให้อำนาจ กระจายอำนาจในองค์การโดยผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน (LO_EP) (r = 0.461, p < 0.01)

องค์การแห่งการเรียนรู้ (LO) มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 กับองค์ประกอบของการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน (IM) ในระดับสูง 2 องค์ประกอบ คือ ลำดับ 1 การหลอมรวมสื่อ (IM_CV) (r = 0.669, p < 0.01)  ลำดับ 2 กระบวนการรวบรวมข้อมูล (IM_CS) (r = 0.650, p < 0.01)  และมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 กับ 2 องค์ประกอบ คือ ลำดับ 3  การสร้างนักข่าวพลเมือง (IM_CJ) (r = 0.580, p < 0.01) และ ลำดับ 4  การใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (IM_DJ) (r = 0.554, p < 0.01) 

อภิปรายผล

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ ข้อ 1 พบว่าระดับการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนและองค์ประกอบของระดับองค์การแห่งการเรียนรู้ ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากเนื่องจากองค์กรสืบสวนเบาะแสเป็นองค์กรที่มีเป้าประสงค์หลัก คือ การแบ่งปันความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ผู้ที่เข้ารับการอบรมให้มีความรู้รอบด้าน ในด้านการรับข้อมูลข่าวสาร การสืบหาข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง และการนำข้อมูลข่าวสารที่ได้ผ่านการวิเคราะห์แล้วมาใช้งาน สมาชิกองค์กรสืบสวนเบาะแสที่ผ่านการอบรมแล้ว ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จึงสามารถนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอด แบ่งปันในการอบรมมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินการองค์กรสืบสวนเบาะแส ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Marsick & Watkins (2003) ที่ได้กล่าวไว้ว่าการที่องค์การจะก้าวสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้จะต้องมีการพัฒนาทั้งบุคลากรในองค์การและโครงสร้างขององค์การด้วย โดยจะเห็นได้ว่าทุกองค์ประกอบของปัจจัยการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนอยู่ในระดับมากทั้งหมด ส่วนองค์ประกอบด้านการใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูลมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ขององค์กรเบาะแสมีความสามารถในการสืบค้นข้อมูลและยืนยันข้อมูลในด้านนี้ได้เป็นอย่างดี มีการประยุกต์ใช้ในงานสืบค้นข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดการฐานข้อมูล (Database Manager) โดยการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบยืนยันข้อมูล นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน ดังนั้นวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลในงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนจึงเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับแนวทางอื่น ๆ  ซึ่งจะทำให้กระบวนการปฏิบัติงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนไปสู่จุดสำเร็จหรือจุดมุ่งหมายได้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ เสกสรรณ ประเสริฐ (2562) และด้านกระบวนการรวบรวมข้อมูล มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดทำให้ผู้บริหารองค์กรสืบสวนเบาะแสต้องมุ่งเน้นการอบรมในข้อนี้ให้สัมฤทธิ์ผลมากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นกระบวนการสำคัญในการนำข้อมูลข่าวสารที่ได้มา ไปใช้ในองค์การและจัดเก็บไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงเมื่อมีกรณีต้องการใช้ข้อมูลเหล่านี้อีกครั้ง ส่วนองค์ประกอบของปัจจัยองค์การแห่งการเรียนรู้ ทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับมาก โดยองค์ประกอบด้านการกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคลและทีม มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ชี้ให้เห็นว่าองค์กรสืบสวนเบาะแสมีการเรียนรู้ร่วมกันเป็นอย่างดี ทั้งในระหว่างบุคคลและจากการกระตุ้นภายใน องค์กรสืบสวนเบาะแสมีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ตลอดเวลาโดยผ่านโปรแกรม Zoom และ Application line จึงทำให้สมาชิกส่วนใหญ่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับงานวิจัยของ รุ่งรดิศ คงยั่งยืน (2561) ที่พบว่าการแบ่งปันความรู้ เป็นปัจจัยสำคัญขององค์การแห่งการเรียนรู้ ส่วนองค์ประกอบด้านการให้อำนาจ กระจายอำนาจในองค์การโดยผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในระดับมากเป็นองค์ประกอบที่ผู้บริหารองค์กรสืบสวนเบาะแสควรต้องมีการปรับปรุงด้านนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์การในการทำงานอย่างรวดเร็ว โดยต้องมีการสร้างผู้นำในแต่ละภาคส่วนมาช่วยดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์การต่อไป

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ ข้อ 2 แสดงให้เห็นว่าการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนมีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับมากกับองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 ทำให้ทราบว่าองค์กรสืบสวนเบาะแสจะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้ต้องพัฒนาบุคลากรทุกภาคส่วนให้มีความสามารถรอบด้านในการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้สมาชิกองค์กรสืบสวนเบาะแสให้เป็นผู้นำทางความคิด มีจิตสำนึก พร้อมรู้เท่าทันในการรับข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันที่มีกระบวนการปล่อยข่าวลวง (Fake News) สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น ทำให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาประเทศ ด้วยความมีจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง กระบวนการนี้จึงเป็นกระบวนการและหลักการในการคิดวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเรื่องส่วนตัวของประชาชนทุกคน พร้อมทั้งกิจกรรมนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้นวัตกรรมการสื่อสารเชิงสืบสวน หรือนวัตกรรมการสื่อสารขั้นสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพลเมืองไทย เป็นการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการใช้นวัตกรรมการสื่อสารเชิงสืบสวนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพลเมืองไทยให้มีความรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล (เสกสรรณ ประเสริฐ, 2564) ส่วนการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 กับองค์ประกอบขององค์การแห่งการเรียนรู้ ในระดับสูง 3 องค์ประกอบ คือ  ลำดับ 1 การเรียนรู้และแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน ลำดับ 2 การส่งเสริมให้มีการพูดคุยสนทนา และลำดับ 3 การกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคลและทีมทำให้เห็นว่าเมื่อองค์กรสืบสวนเบาะแสพัฒนาสมาชิกให้มีความรู้ในการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนแล้วสามารถทำให้องค์กรสืบสวนเบาะแสพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ได้ใน 3 องค์ประกอบทันที ส่วนอีก 4 องค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01  คือ ลำดับ 4 การเชื่อมโยงองค์การเข้ากับสภาพแวดล้อมและปรับตัวให้เหมาะสม  ลำดับ 5 การเตรียมกลยุทธ์ภาวะผู้นำสำหรับการเรียนรู้ ลำดับ 6  การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลำดับ 7 การให้อำนาจ กระจายอำนาจในองค์การโดยผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันจะมีการพัฒนาตามมาอย่างต่อเนื่อง จากการวิจัยนี้สามารถทำให้ทราบว่าองค์กรสืบสวนเบาะแสจะต้องพัฒนา 4 องค์ประกอบนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้องค์กรสืบสวนเบาะแสก้าวเข้าสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้โดยเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของ Hooff & Ridder (2004) ที่พบว่า บรรยากาศการสื่อสารขององค์การและความผูกพันต่อองค์การมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบด้านการเสียสละความรู้และการเก็บรวบรวมความรู้และการเก็บรวบรวมความรู้เป็นพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ต่างมีความสัมพันธ์กันในทางบวก ส่วนปัจจัยด้านองค์การแห่งการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 กับองค์ประกอบของการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน ในระดับสูง 2 องค์ประกอบ คือ ลำดับ 1 การหลอมรวมสื่อ ลำดับ 2 กระบวนการรวบรวมข้อมูล ทำให้พบว่าองค์ประกอบทั้ง 2 อย่างเป็นหัวใจหลักของการสร้างองค์กรสืบสวนเบาะแสให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  0.01 กับ 2 องค์ประกอบคือ การสร้างนักข่าวพลเมือง และลำดับ 4 การใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูลทำให้ทราบว่าถึงแม้ว่าผลการวิจัยแสดงว่าการใช้วารสารศาสตร์เชิงข้อมูลค่าเฉลี่ยจะอยู่ในระดับมากแต่ค่าความสัมพันธ์กับองค์การแห่งการเรียนรู้อยู่ในระดับปานกลาง ลำดับสุดท้ายขององค์ประกอบทั้งหมดของการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน ทำให้ทราบว่าในองค์กรสืบสวนเบาะแสควรจะให้ความรู้เพิ่มเติมแก่สมาชิกในด้านการประยุกต์ใช้ในงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดการฐานข้อมูล (Database Manager) โดยการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบ ยืนยันข้อมูล นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน ดังนั้นวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลในงานข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนจึงเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในงานหาข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับแนวทางอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้กระบวนการหาข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนไปสู่จุดสำเร็จหรือจุดมุ่งหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Eleader (2017) ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องการเตรียมพร้อมบุคลากรรับ Digital Transformation โดยพบว่าองค์การจะปฏิรูปการทำงานโดยให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและปฏิรูปองค์การ พบว่าเป็นปัจจัยที่่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าองค์การต้องมีการวางแผนฝึกอบรมเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างการเรียนรู้ ทักษะทางด้านดิจิทัลในการดำเนินงาน นอกจากนี้ กรอบในการสร้างกลยุทธ์จำเป็นที่จะต้องมีรากฐานหลักที่สนับสนุน 2 ประการ ได้แก่ การออกแบบองค์การอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Organization Design) ที่สร้างมาเพื่อสนับสนุนกรอบในการสร้างอีกส่วนหนึ่งคือ การมีบุคลากรที่มีทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นต่อภารกิจและบทบาทที่ระบุไว้ในกรอบดังกล่าว  

ข้อเสนอแนะ

การวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษาเรื่องการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ขององค์กรสืบสวนเบาะแส โดยมีความมุ่งหวังที่จะปรับปรุงกระบวนการในการจัดการองค์การให้องค์กรสืบสวนเบาะแสเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงแนวทางการจัดการข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ซึ่งการที่จะนำพาองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ต้องมีปัจจัยด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน  ในการทำวิจัยครั้งต่อไปควรจะต้องนำตัวแปรด้านพฤติกรรมของสมาชิกในองค์กรสืบสวนเบาะแสมาเป็นตัวแปรสำคัญด้วย เช่น ปัจจัยการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ (Organizational Citizenship Behavior) หรือปัจจัยพฤติกรรมการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) เพื่อการนำพาองค์กรสืบสวนเบาะแสและองค์การอื่น ๆ  สามารถนำงานวิจัยนี้ไปพัฒนาองค์การของตนเข้าสู่องค์การแห่งการเรียนรู้ได้สมบูรณ์แบบ       

เอกสารอ้างอิง

รุ่งรดิศ คงยั่งยืน. (2560). องค์การแห่งการเรียนรู้ บรรยากาศองค์การ พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การและการแบ่งปันความรู้ของหน่วยงานในฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน). วารสารสมาคมนักวิจัย, 22(1), 150-162

____________. (2561). ความสัมพันธ์และอิทธิพลระหว่างการแบ่งปันความรู้ บรรยากาศองค์การ องค์การแห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ของครูสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ.วารสารร่มพฤกษ์, 36(1), 135-158

ทัศชยันต์ วาหะรักษ์. (2554). เทคนิคการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์แนวประชานิยม. คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, นนทบุรี.

เสกสรรณ ประเสริฐ. (2562). กระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน. วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา, 8(2), 353-368 

_______________. (2562). การพัฒนากระบวนการสื่อข่าวเชิงสืบสวน. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก, กรุงเทพฯ.    

_______________. นวัตกรรมการสื่อสารขั้นสูงเพื่อใช้พัฒนาองค์ความรู้สู่ชุมชน. (6 พฤศจิกายน 2566) สืบค้นจาก https://borsae.org/?p=1316.

Cohen, J. F., Olsen, K. (2015). Knowledge Management Capabilities and Firm Performance: a Test of Universalistic, Contingency and Complementarity Perspectives. Expert Systems with Applications, 42, 1178-1188

Eleader. (2017). Digital transformation: Opportunities to create new employee models. MIT Sloan Management Review, 58(2), 20-22

Ekambaram, A., Sorensen, A. O., Bull-Berg, H., Olssen, N. O. E. (2018). The Role of Big Data and Knowledge Management in Improving Projects and Project-Based Organizations. Procedia Computer Science, 138, 851-858

Feldstein, M.(2006). A muckraking model investigative reporting cycles in American  history. The Harvard International Journal of Press/Politics, 11(2), 105-120

Karin Hulshof. World Economic Forum on ASEAN. (6 พฤศจิกายน 2566) สืบค้นจาก

https://www.weforum.org/agenda/2018/09/heres-how-we-prepare- asean-youth-for-the-future.

Marsick, V. J., and Watkins, K. E. (2003). Demonstrating the Value of an Organization’s Learning Culture: the Dimensions of the Learning Organization Questionnaire. Advances in Developing Human Resources. 5 (May), 132-151

Van Den Hooff, B., & Ridder, J. A. (2004). Knowledge sharing in context: The influence of organizational commitment, communication climate and CMC use on knowledge sharing. Journal of Knowledge Management8(6), 117-130

หมายเหตุ นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจสามารถนำเผยแพร่ และอ้างอิงได้ตามความเหมาะสม

About borsae-admin

ปราบคอร์รัปชันและช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ติดต่อ LineID: borsae0001 ติดตามผลงานได้ใน https://borsae.org/?p=1014

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

Scroll To Top